เกือบทำเอารัฐบาลเสียศูนย์! กับประกาศกระทรวงการคลังลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานรัฐโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณที่ทำเอาหน่วยงานราชการต่างๆ โดยเฉพาะบุคลากรในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงขั้นก่อหวอดเตรียมลุกฮือขึ้นประท้วงรัฐบาล
ด้วยระเบียบของกระทรวงการคลังดังกล่าวกำหนดให้ส่วนราชการหลีกเลี่ยงการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ หากมีความจำเป็นจะต้องทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อน และกรณีที่ส่วนราชการได้ดำเนินการไปแล้ว แม้จะยังให้ว่าจ้างต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาหรือลูกจ้างผู้นั้นลาออก แต่ก็ห้ามส่วนราชการปรับขึ้นเงินเดือน หรือเลื่อนขั้นใดๆให้ และเมื่อหมดสัญญาก็ให้พิจารณายุบเลิกตำแหน่งไปนั้น
ไม่เพียงกระทบต่อพนักงานลูกจ้างรัฐในสังกัด สธ.เท่านั้น แต่ยังกระทบไปยังส่วนราชการอื่นๆทั้งระบบ แม้แต่กรมสรรพากร กรมศุลกากรเอง โดยเฉพาะกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่มีการว่าจ้างพนักงาน-ลูกจ้างชั่วคราวกันมากที่สุดในการดูแลพงไพร
แม้กระทรวงการคลังจะยืนยันว่าระเบียบดังกล่าวไม่กระทบ ต่อการจ้างลูกจ้างรัฐในสังกัด สธ.ที่มีข้อตกลงกับกระทรวงการคลังอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นระเบียบที่บังคับใช้กับส่วนราชการอื่นๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระเบียบที่หว่านแหออกมาเมื่อไม่ได้มีข้อยกเว้นใดๆเอาไว้ ก็ทำให้บุคลากรในสังกัด สธ.นั่งไม่ติด กับชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายจนต้องลุกฮือกันขึ้นมา
โดยชมรมแพทย์ชนบทนั้นเห็นว่ากระทรวงการคลังไม่ได้คำนึงถึงปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ หลังจากรัฐบาลประกาศใช้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือโครงการบัตรทอง และ ยังต้องดูแลผู้ป่วยแรงงานต่างด้าวและผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เภสัชกร อยู่ในภาวะงานล้นมือ จึงต้องอาศัยการว่าจ้างบุคลากรทางการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาช่วยงานซึ่งที่ผ่านมาก็ได้อาศัยเงินนอกงบประมาณมาใช้จ่ายเพื่อว่าจ้างบุคลากรเหล่านี้ และจำเป็นต้องดำเนินการว่าจ้างเป็นสัญญาระยะยาว 3-4 ปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วย
ผิดกับส่วนราชการทั่วไปที่มีลักษณะงานเป็นงานทั่วไปที่ใครๆก็สามารถทำได้ เช่น ลูกจ้างเหมารายวัน เดินสำรวจป่า ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มว่าจ้างทำของซึ่งไม่สามารถจะนำมาเปรียบเทียบกันได้ ดังนั้น หากจะให้ สธ.ต้องบากหน้ามาขออนุมัติการใช้จ่ายเงินนอกงบ ประมาณเพื่อว่าจ้างลูกจ้างหรือบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ในลักษณะปีต่อปีย่อมไม่เกิดความคล่องตัวและอาจทำให้ลูกจ้างเหล่านั้นเลือกที่จะลาออกไปทำงานในภาคเอกชนแทน ซึ่งจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาหนักเข้าไปอีก
ประเด็นนี้เอง จึงเป็นที่มาของการออกมาประท้วงของชมรมแพทย์ชนบท เพราะสถานการณ์ของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่นั้นนัยว่ามีการใช้เงินนอกงบประมาณสูงถึง 50% ของ ค่าใช้จ่ายทั้งหมด
โดย นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประเมินว่าโรงพยาบาลขนาดเล็กต้องใช้เงินนอกงบ ประมาณในการว่าจ้างบุคลากรทางการแพทย์สูงถึง 60% ขณะที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ อาจจะใช้เงินนอกงบประมาณ 50% เพื่อดูแลผู้ป่วย จึงเสนอให้คลังควรจะแยกค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขออกมาเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้โรงพยาบาลมีอิสระในการบริหารเงินตามกรอบที่คลังกำหนด ไม่ใช่มัดมือมัดเท้าจนกระดิกไม่ได้
แม้คลังจะดับไฟคุกรุ่นจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงไปแล้ว แต่กรณีความเคลื่อนไหวต่อต้านระเบียบสุดเข้มของกระทรวงการคลังคงไม่ได้มีแต่ สธ.เท่านั้น เพราะส่วนงานราชการทั้งระบบ 9,300 แห่ง ที่มีพนักงานข้าราชการ ลูกจ้างรัฐทั้งระบบกว่า 900,000 คน คงจะมีรายการร้องแรกแหกกระเชอตามมาเป็นระลอกๆแน่ หากคลังยังคงหว่านแหทำคลอดระเบียบออกมาโดยไม่ได้ดูรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง!
เช่นกรณีของการยกเครื่องระเบียบจัดซื้อจัดจ้างโดยผลักดัน “พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560” ที่ใช้บังคับไปก่อนหน้าเมื่อ 23 ส.ค.2560 ผลที่ตามมากลับทำเอาส่วนราชการต่างๆระส่ำกันไปทั้งประเทศ หลายหน่วยงานไม่สามารถประมูลจัดหาพัสดุหรือดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ตามกำหนดจนป่านนี้ บางหน่วยงานยังเคลียร์หน้าเสื่อไม่แล้วเสร็จ
เพราะระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่รัฐดำเนินนโยบาย “แช่แข็ง” คุมกำเนิดข้าราชการปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ทำให้ส่วนงานราชการ และรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ต้องรัดเข็มขัดต้องอยู่ในภาวะอึดอัดหาวเรอกันมาตลอด เมื่อมาเจอกับระเบียบอันเข้มงวดที่คลังจุดพลุออกมาล่าสุด จึงย่อมต้องปริแตกออกมาเป็นธรรมดา.
วรรณกิจ ตันติฉันทะวงศ์