อะเมซซิ่งสงกรานต์ เย็นทั่วหล้าเมืองรอง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อะเมซซิ่งสงกรานต์ เย็นทั่วหล้าเมืองรอง

Date Time: 4 เม.ย. 2561 05:01 น.

Summary

  • สงกรานต์ปีนี้ การท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) จัดหนักเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์...Amazing Songkran 2018”

Latest

เศรษฐกิจไม่ฟื้น “เงินไม่พอ” คนไทย เลือก “เช่าบ้าน” อยู่อาศัย ถ้าจะซื้อต้องไม่เกิน 2 ล้าน เฟอร์ฯครบ

สงกรานต์ปีนี้ การท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) จัดหนักเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์...Amazing Songkran 2018” เน้นหนักไปที่เมืองรอง...กลับบ้านแต่งไทยไปเล่นสงกรานต์

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บอกว่า งานประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีไทยที่คนไทยก็มีความสุขได้กลับบ้าน คนที่ทำงานในกรุงเทพฯก็ได้กลับภูมิลำเนาไปอยู่กับครอบครัว ที่สำคัญปีนี้รัฐบาลประกาศวันหยุดเพิ่มอีก 1 วัน คือวันที่ 12 เมษายน ทำให้เป็นการหยุดยาว “ประกอบกับกระแสการแต่งชุดไทย เป็นพระมหากรุณาธิคุณตั้งแต่งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ทำให้คนไทยตื่นตัวในเรื่องความนิยมไทย แล้วก็มารับกับกระแสละครบุพเพสันนิวาส ทำให้เห็นถึงการแสดงออกที่เป็นอัตลักษณ์ของคนไทย ททท.ก็เลยทำแคมเปญสงกรานต์นี้ไหนๆก็จะกลับบ้านแล้วก็กลับไปด้วยความภาคภูมิใจ”

แนวคิดสำคัญการโปรโมตการท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน 2561 “สงกรานต์แต่งไทย...ไปสงกรานต์แล้ว...ก็ไปเที่ยวเมืองรอง” สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นช่วงวันครอบครัว อยากให้ทุกคนมีความสุข อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตากัน...เที่ยวกันในประเทศอยู่กับครอบครัว

ยุทธศักดิ์ ย้ำว่า ในอดีตถึงปัจจุบัน ททท.สนับสนุนให้จัดงานเทศกาลสงกรานต์ตามประเพณีนิยมในแต่ละท้องถิ่นอยู่แล้ว เชียงใหม่ ภาคใต้...หาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น ที่สุดแล้วส่วนท้องถิ่นก็รับไม้ต่อไปจัดอย่างต่อเนื่อง เราก็จะถอยออกมาสนับสนุนให้งานมีคุณภาพมากขึ้นเท่านั้นเอง

ปีนี้ที่พิเศษ เพื่อเป็นการตอบรับนโยบายรัฐบาลการส่งเสริมการท่องเที่ยว “เมืองรอง” ทำให้คนรู้จักมากขึ้นใน 5 พื้นที่ อาทิ ภาคเหนือ...จังหวัดกำแพงเพชร ภาคกลาง...จังหวัดสิงห์บุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีสาน...จัดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ภาคใต้...จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่ภาคตะวันออก...จังหวัดจันทบุรี

5 จังหวัดเมืองรอง เทศกาลสงกรานต์ ตัวอย่างเช่น “จันทบุรี” เรียกว่า “มหาสงกรานต์ตะปอน ตำนานแห่เกวียนผ้าพระบาท”...หนึ่งเดียวของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจกว่า 460 ปี ทั้งยังมีตลาดโบราณย้อนตำนานบ้านตะปอน ที่สำคัญไฮไลต์ก็คือ มีการร่วมก่อพระเจดีย์ทรายแห่งศรัทธานับพันกอง

“ในส่วนสิงห์บุรีจังหวัดเล็กๆ ที่คนอาจไม่มีโอกาสแวะนักก็เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์น่าสนใจ วัดโพธิ์เก้าต้น...บ้านบางระจัน ร่วมฉลองสงกรานต์ด้วยในปีนี้ ซึ่งไม่ได้อิงเรื่องการแต่งไทยอย่างเดียว แต่อิงเรื่องความภูมิใจในทางประวัติศาสตร์ด้วย สอดแทรกเรื่องความสามัคคี ความรักชาติ”

แน่นอนว่า...ตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นจุดขายสำคัญของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ปีที่แล้วตัวเลขอยู่ที่ 35.4 ล้านคน สิ่งแรกคือต้องการสัมผัสความสวยงามตามธรรมชาติของประเทศไทย ชายหาด ทะเลที่สวยงาม ความเป็นเจ้าบ้านที่ดี อัธยาศัย นอกเหนือจากนี้ก็คือ ประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งหมายรวมถึงอาหารการกิน

คาดว่า...ในช่วงสงกรานต์นี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไม่น้อย โดยเฉพาะจากจีน กลุ่มประเทศอาเซียน ดึงเม็ดเงินลงไปในแต่ละพื้นที่ได้อีกพอสมควร

ฉายภาพตัวอย่างการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติการท่องเที่ยวเมืองรอง “แพร่” และ “น่าน”...2 ใน 55 จังหวัดที่มีโมเดลน่าสนใจ เอิบลาภ ศรีิภิรมย์ ผอ.ททท.สำนักงานแพร่ บอกว่า ประเด็นหลักคือเพิ่มจำนวนวันพัก และ เพิ่มค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริป นอกจากนี้ ยังต้องกระตุ้นส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังอำเภอต่างๆมากขึ้น

การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองไม่เหมือนเมืองหลัก ด้วยข้อจำกัดด้านกายภาพ ข้อจำกัดในเชิงที่ตั้ง การเข้าถึงปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ที่จะต้องเข้าไปดูและพัฒนาในการเป็นซับ ฮับ (Sub Hub) หรือพื้นที่รอง มากกว่าการเป็น ฮับ (Hub)...เราเน้นที่รายได้มากกว่าจำนวน เพราะถ้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น ก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องของขีดความสามารถในการรองรับ จุดยืนที่ชัดเจนคือ เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพ

เอิบลาภ ยกตัวอย่างที่น่าน เน้นครีเอทีฟ ทัวริสซึม...ให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ ประทับใจ อยู่นานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น เช่น มีกิจกรรมทำตุง...ทำโคมมะเต้า ได้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรม เพิ่มรายได้ให้ชุมชน

หรือที่แพร่ มีตัวอย่างชัดเจน อ.ลอง หรือเมืองลอง มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่มาก แต่ยังไม่เคยมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง เราก็เปิดพื้นที่ด้วยการร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดการท่องเที่ยวทางรถไฟ นั่งรถไฟไปเมืองลอง ลงที่สถานีบ้านปิน ซึ่งเป็นสถานีรถไฟสไตล์บาวาเรียนแห่งเดียวในประเทศไทย และยังเป็น 1 ใน 7 ของสถานีรถไฟที่สวยที่สุดในประเทศไทยด้วย

นอกจากเรื่องแหล่งท่องเที่ยว กลยุทธ์ต่างๆ “ห่วงโซ่มูลค่า”...ผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ ททท.เข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ในลักษณะการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาสินค้าเพื่อการท่องเที่ยว “ต้นน้ำ”...ช่วยดู ช่วยคิด ช่วยออกแบบเรื่องแหล่งท่องเที่ยวให้ตรงความต้องการ

“กลางน้ำ”...ก็จะเข้าไปจับมือกับผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็นพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด พัฒนาชุมชน ผู้ประกอบการ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน และสุดท้าย “ปลายน้ำ”...คือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น เอิบลาภ ฝากว่า ความสำเร็จในการพัฒนา หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง...สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในด้านต่างๆ ซึ่งต้องเริ่มจากการที่ชุมชนมีความเข้าใจ รู้จักตัวเอง มองอนาคตและตั้งเป้าหมายชัดเจนในศักยภาพที่เป็นไปได้

เหลียวมองแคมเปญสถาบันการเงินต่างๆ ที่จัดให้คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นการตลาดกระแสที่ไปบังคับไม่ได้ จริงๆแล้วการไปเที่ยวต่างประเทศอาจจะมีข้อดีอยู่บ้าง...อาจทำให้ได้เห็นว่า ไปเที่ยวต่างประเทศก็ไม่ได้แตกต่างจากเที่ยวในประเทศ ไปซื้อของ ไปชื่นชมวัฒนธรรม...บางทีบ้านเราก็มีอยู่แล้ว

“อยากให้คิดว่า ถ้าอยากจะไปเที่ยวต่างประเทศ ขอให้คิดถึงเมืองรองก่อน หมายถึงว่า ไม่ได้เป็นรองใคร แต่ที่ผ่านมา เราอาจจะไม่ได้มอง ไม่รู้จัก หลายๆที่หลายๆจังหวัด ที่ ททท.ให้การส่งเสริม...ทุกคนแปลกใจว่านี่แหละคือ อันซีนที่แท้จริง ทำไมเราไปแต่เมืองหลักๆ เมืองรองกลับมองข้ามไปได้ยังไง”

ทั้งเรื่องวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ อาหารการกิน เป็นสิ่งที่น่าค้นหา...55 เมืองรอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเจนวาย กลุ่มผู้หญิง กลุ่มครอบครัว มีความหลากหลายพร้อมที่จะรองรับการท่องเที่ยว

ยุทธศักดิ์ ผู้ว่าการ ททท. บอกอีกว่า เป้าหมายที่คาดหวัง 5 จังหวัดเมืองรองช่วงเทศกาลสงกรานต์คือ...ภาพความสุข พี่น้องประชาชนคนไทย การจัดงานไม่ได้จัดเฉพาะ 5 เมืองรอง เมืองหลัก...แต่กระจายทั้งประเทศมีความสุขตามประเพณีนิยม ความคึกคักในทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้วในประเทศไทย ในบรรยากาศประเพณีสงกรานต์ “ปีใหม่ไทย” ททท.ก็จะเติมสีสัน เกิดการกระจายรายได้ในจังหวัดเมืองรองมากขึ้น ที่จริงแล้วก็อยากจะทำทั้ง 55 จังหวัดเมืองรอง แต่มีข้อจำกัดด้วยเรื่องกำลังคน งบประมาณ...ปีนี้นำร่องให้เห็นก่อนเพื่อเดินหน้าต่อไปในอนาคต

สานต่อ “ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง” หมดสงกรานต์แล้วเข้าหน้าฝน...อย่าคิดว่าคนจะเที่ยวน้อยลง วันนี้พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนเปลี่ยนไป อย่าลืมว่า ช่วงหน้าฝนเป็นช่วงกรีนซีซัน ผลไม้อร่อยที่สุด ททท.จะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โปรโมตเส้นทางผลไม้ต่างๆ...ใช้ปูมหลัง จากประวัติศาสตร์ ผูกเรื่องราวเป็นจุดขาย

ทำให้การท่องเที่ยวช่วงฤดูฝนมีอรรถรสมากขึ้น เข้าสู่ไฮซีซันนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเริ่มเข้ามา...ในอนาคตอันใกล้นี้ก็อยากจะเห็น “ออเจ้า” ที่เป็นผมทองบ้าง ออเจ้าที่พูดไทยไม่ได้บ้าง...“อยากรู้ว่าคนอเมริกัน คนจีนจะพูดออเจ้าได้ชัดเหมือนคนไทยหรือเปล่า อาจเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ เราสามารถสร้างกระแสได้อย่างกว้างขวาง”

“สงกรานต์เดินทางกลับบ้านอย่างมีความสุข ดูแลตัวเองให้ปลอดภัย ระมัดระวังในการเดินทาง แต่งไทยไปฉลองสงกรานต์เมืองรอง...ฉลองยืนยาวนะครับ” ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ฝากทิ้งท้าย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ