"บิ๊กตู่" เคาะแผนรับเงินก้อนโต ดัน "อีอีซี" ศูนย์กลางเศรษฐกิจน่าอยู่ในเอเชีย

Money

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"บิ๊กตู่" เคาะแผนรับเงินก้อนโต ดัน "อีอีซี" ศูนย์กลางเศรษฐกิจน่าอยู่ในเอเชีย

Date Time: 2 ก.พ. 2561 09:45 น.

Summary

  • “บิ๊กตู่” เคาะแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรับอีอีซี 168 โครงการ วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท พร้อมเปิดไฟเขียวแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในอีอีซี 53 โครงการ วงเงิน 31,000 ล้านบาท...

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชี้คนไทยยังมีกำลังซื้อ นโยบายกระตุ้นบริโภค ไม่ช่วยฟื้นภาคการผลิต

“บิ๊กตู่” เคาะแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรับอีอีซี 168 โครงการ วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท พร้อมเปิดไฟเขียวแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในอีอีซี 53 โครงการ วงเงิน 31,000 ล้านบาท ด้าน “คณิศ” คงเป้ายื่นขอลงทุนเพิ่มในอีอีซี 500,000 ล้านบาท ใน 5 ปี

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรองรับอีอีซี ประกอบด้วย โครงการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวจำนวน 168 โครงการ กรอบวงเงินรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เพิ่มโครงสร้างพื้นฐานเรื่องดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพ เข้าไปในแผนปฏิบัติการด้วย เบื้องต้นคาดว่าการลงทุนจะเป็นเงินงบประมาณ 30% งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 10% และรัฐร่วมทุนกับเอกชน (พีพีพี) 60%

สำหรับแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรองรับอีอีซี จะมุ่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ในพื้นที่อีอีซีและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่น่าอยู่อาศัยแห่งหนึ่งของเอเชีย และจะให้อีอีซีเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯได้อย่างสมบูรณ์ รวมกันเป็นมหานครขนาดใหญ่ ลดความแออัดของกรุงเทพฯ ในอนาคตประชาชนสามารถเดินทางระหว่างอีอีซีกับกรุงเทพฯในเวลา 1 ชั่วโมงด้วยรถไฟความเร็วสูง และมีสนามบินอู่ตะเภาเสมือนเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ช่วยบรรเทาความคับคั่งของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ คาดว่าผลจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือปีละ 200,000 ล้านบาท และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 2.1-3 ล้านล้านบาท จากการลดเวลาเดินทางและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังเห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี ปี 2560-2564 มีโครงการทั้งหมด 53 โครงการ กรอบวงเงิน 31,028 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้เงินงบประมาณ 25% งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 1% และรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน 75% เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวในอีอีซี สู่การท่องเที่ยวระดับโลกอย่างยั่งยืน รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มครอบครัว และนักธุรกิจเพิ่มขึ้น คาดว่าหลังระบบคมนาคมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวได้สมบูรณ์ภายใน 4 ปี จะมีนักท่องเที่ยวในอีอีซีเพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคน ในปัจจุบัน เป็น 46.72 ล้านคน และประชาชนจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 508,590 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 285,572 ล้านบาท

นายอุตตม กล่าวต่อว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมฯ รับทราบความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พ.ร.บ.อีอีซี ซึ่งได้เสร็จสิ้นการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาแล้วเสร็จในวาระ 3 เดือน ก.พ.นี้ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานภาวการณ์การลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี โดยปี 2560 มีนักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี 296,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท จากปี 2559 ซึ่งเป็นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง คิดเป็น 84% ของการลงทุนในอีอีซีทั้งหมด ส่วนเป้าหมายการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีปี 2561 ตั้งไว้ที่ 300,000 ล้านบาท

“พื้นที่อีอีซี ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 อุตสาหกรรม เป็นผลจากรัฐได้เพิ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2561 เช่น ในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังเห็นชอบประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติมอีก 19 แห่ง ทำให้มีพื้นที่ใหม่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 26,200 ไร่ รองรับการลงทุนได้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า”

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ยังคงเป้าหมายการขอรับส่งเสริมการลงทุนโครงการอีอีซีอยู่ที่ 500,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี หรือปีละ 100,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีนักลงทุนขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก หลัง พ.ร.บ.อีอีซีมีผลบังคับใช้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ