ธปท.คาด “จีดีพี” ปีนี้โต 4% ลุ้นส่งออก-ภาครัฐลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธปท.คาด “จีดีพี” ปีนี้โต 4% ลุ้นส่งออก-ภาครัฐลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

Date Time: 1 ก.พ. 2561 10:15 น.

Summary

  • ธปท.มองเศรษฐกิจปีนี้โอกาสโต 4% เกิดขึ้น หากส่งออก–ลงทุนภาครัฐช่วยกันขับเคลื่อน ลุ้นรัฐบาลลงทุนได้เร็วไม่ล่าช้าเหมือนปีที่ผ่านมา ส่วนการใช้จ่ายในประเทศยังไม่ดีนัก

Latest

บอร์ดอีวีไฟเขียวลดภาษีสรรพสามิต ถึงคิวรถยนต์ไฮบริดบูม

ธปท.มองเศรษฐกิจปีนี้โอกาสโต 4% เกิดขึ้น หากส่งออก–ลงทุนภาครัฐช่วยกันขับเคลื่อน ลุ้นรัฐบาลลงทุนได้เร็วไม่ล่าช้าเหมือนปีที่ผ่านมา ส่วนการใช้จ่ายในประเทศยังไม่ดีนัก เหตุรายได้ทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรลดลง ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำช่วยได้แค่พยุง ขณะที่งบกลางช่วยผู้มีรายได้น้อยเฟส 2 อาจจะช่วยกระตุ้นได้บ้าง จับตากีดกันการค้าสหรัฐฯกระทบส่งออก

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในเดือน ธ.ค.60 ที่ผ่านมา รวมทั้งเศรษฐกิจทั้งปี 2560 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.เนื่องจากการใช้จ่ายภาคเอกชน จากการขยับมาตรการช็อปช่วยชาติในปี 2560 เป็นเดือน พ.ย.จากปี 2559 ที่ผ่านมาอยู่ในเดือน พ.ย. และตัวถ่วงที่สำคัญของการขยายตัวในเดือน ธ.ค.คือการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัว 9.4% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐ จากการปรับนโยบายการใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และการล่าช้าของการลงทุนภาครัฐ ใน 3 โครงการหลัก

อย่างไรก็ตาม หากมองทั้งปี 2560 ซึ่งเดิม ธปท.มองไว้ที่ 3.94% นั้น เมื่อภาพการส่งออกทั้งปีนี้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 9.7% จาก 9.3% ที่ประมาณการไว้ก่อนหน้า แม้การใช้จ่ายภาครัฐจะหดตัว แต่แรงส่งโดยรวมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าปี 2560 จะโตได้เกิน 4% เช่นเดียวกับปี 2561 โอกาสที่การขยายตัวโดยรวมจะสูงกว่า 3.9% หรือขยายเกิน 4% ก็มีความเป็นไปได้ โดยแรงขับเคลื่อนหลักยังเป็นการส่งออก และการท่องเที่ยว แต่อัตราการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้อาจจะไม่ได้สูงเท่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าทั้งปีการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 4% ดังนั้น ในปี 2561 นี้ จะต้องพึ่งพาการขยายตัวจากในประเทศร่วมด้วย โดยมองว่าตัวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้คือ การลงทุนของภาครัฐที่มองว่าจะขยายตัวได้ 9% รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา

แต่ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนนั้น ยังจะต้องติดตามต่อไป เพราะในส่วนของการใช้จ่ายในสินค้าไม่คงทน หรือสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งปีที่ผ่านมายังขยายตัวติดลบ 0.3% แต่เริ่มเห็นการใช้จ่ายในสินค้าคงทนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ที่คาดว่าจะขายได้ดีต่อเนื่องในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็ง ทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคเกษตร โดยไตรมาส 4 ที่ผ่านมา รายได้ภาคเกษตรกรรมยังคงติดลบ 7% โดยในเดือน ธ.ค.รายได้ติดลบเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่แรงงานนอกภาคเกษตร รายได้โดยรวมก็มีทิศทางลดลงเช่นกัน

“ในช่วงที่ผ่านมา แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีการปลดคนงานมากขึ้น และทำให้แรงงานส่วนนี้ย้ายไปยังภาคบริการ ซึ่งทำให้ภาพรวมเห็นตัวเลขว่างงานเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่รายได้ของแรงงานเหล่านี้ลดลงจากช่วงก่อนหน้า ทำให้กำลังซื้อลดลงไปด้วย โดยการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจะช่วยพยุงได้บ้าง เพราะแรงงานที่ได้แรงงานขั้นต่ำนั้นไม่ได้เป็นแรงงานส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมด ขณะที่งบกลางของรัฐบาลที่ใช้ในมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อยเฟส 2 ตัวงบจริงๆ อาจจะมีไม่มาก โดย ธปท.ยังคงเป้าประมาณการใช้จ่ายของภาคเอกชนไว้ที่ 3.1%”

นายดอน กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือ การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ หรือมาตรการเซฟการ์ด ซึ่งในขณะนี้กระทบเครื่องซักผ้า และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ของไทย โดยเท่าที่ ธปท.ประเมิน 2 ตัวนี้มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 0.3% ของการส่งออกรวม และเชื่อว่าจะไม่ได้กระทบทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามมาตรการนี้ต่อไป เพราะอาจจะมีสินค้าอื่นตามมา.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ