ปัญหาประมงถึงคราวปะทุขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางลงภาคใต้ เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) โดยระหว่างเดินพบปะกับพี่น้องชาวใต้ ตัวแทนม็อบประมง จังหวัดปัตตานี ก็เข้ามาร้องเรียนถึงความเดือดร้อนเรื่องการทำประมง แต่กลับเจอนายกรัฐมนตรีเสียงดังใส่ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงความไม่เหมาะสมจำนวนมาก ก่อนเรื่องราวนี้จะจบลงโดยนายกรัฐมนตรีได้ออกมาขอโทษผ่านสื่อ
สำหรับประเด็นปัญหาที่ชาวประมงต้องการมาเรียกร้องกับนายกรัฐมนตรี คือเรื่องการ “ขอยืดเวลาวันออกทำการประมงเพิ่ม” โดยกลุ่มชาวประมงระบุว่า กรมประมงจำกัดเวลาทำประมงเหลือเพียง 220 กว่าวันต่อปี หรือเพียง 7-8 เดือน และเหลือเดือนที่ทำประมง 4 เดือนต่อปี ทำให้ชาวประมงขาดรายได้
โดยปัญหานี้ยังส่งผลกระทบวงกว้างต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมงต้องปิดกิจการ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนของชาวประมงที่ต้องจ่ายค่าแรงงานตลอดทั้งปี ทำให้เกิดปัญหาว่างงานในพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจภาคประมงโดยรวมของจังหวัดปัตตานี เสียหายกว่า 200,000 ล้านบาท
สาเหตุที่กรมประมงกำหนดวันทำประมงเช่นนี้ เป็นเพราะปัจจุบันสหภาพยุโรป (อียู) ยังจัดให้ไทยอยู่ในสถานะ “ใบเหลือง” ในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม หรือไอยูยู ซึ่งต้องการให้ไทยทำประมงถูกต้องตามกฎหมาย และมีการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอียูที่ต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล กรมประมงจึงออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ.2558 กำหนดให้การทำประมงในน่านน้ำไทยจะต้องมีปริมาณสัตว์น้ำเกินกว่าค่าผลผลิตสูงสุดที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (Maxi mum Sustainable Yield หรือ MSY) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2559 โดยวันทำประมงจะคำนวณจากขนาดเรือ เครื่องมือทำประมง และใบอนุญาต
สำหรับวันออกทำการประมงใหม่ที่กรมประมงกำหนด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เรือกลุ่มที่ 1 คือ เรือที่มีใบอนุญาตถูกต้อง จะได้ทำการประมงปีละ 230 วัน (ในช่วง 2 ปี 2559-2561) เรือกลุ่มที่ 2 คือ เรือที่มีใบอนุญาตทำประมงเดิม แต่ใช้เครื่องมือที่ไม่ตรงกับใบอนุญาตแล้วได้มายื่นขออนุญาตตรงกับเครื่องมือที่ใช้อยู่ก็จะได้ทำการประมงปีละ 215 วัน และเรือกลุ่มที่ 3 คือ เรือที่เดิมไม่เคยมีใบอนุญาต แต่ได้มาขอใบอนุญาต ก็จะได้ทำการประมงปีละ 200 วัน โดยเรือทั้ง 3 กลุ่มจะต้องไปบริหารวันหยุดกันเอง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจากข้อมูลของกรมประมง มีจำนวนเรือประมงพาณิชย์ที่มีใบอนุญาตทำการประมงทั้งสิ้น 10,600 ลำ โดยกรมประมงแบ่งเรือพาณิชย์ (ยกเว้นเรือปั่นไฟ) เป็น 2 กลุ่ม รวม 8,655 ลำ ได้แก่ 1.กลุ่มเรือที่มีขนาดเล็กลงหรือใหญ่ขึ้นไม่เกิน 10% มี 7,807 ลำ แบ่งเป็น จับสัตว์น้ำหน้าดิน 5,540 ลำ ปลาผิวน้ำ 1,553 ลำ และปลากะตัก จำนวน 714 ลำ
กลุ่มที่ 2.เรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเกิน 10% จากทะเบียนมีทั้งหมด 848 ลำ แบ่งเป็น สัตว์น้ำหน้าดิน 562 ลำ ปลาผิวน้ำ 158 ลำ และปลากะตัก 128 ลำ โดยกลุ่มนี้ในปี 2560 จะถูกลดวันทำการประมง เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ทำการประมงมีประสิทธิภาพในการทำลายสูง โดยหากต้องการทำวันประมงสูงสุดคือ สามารถทำประมงได้ตลอดปีแบบกลุ่มแรกจะต้องนำเรือไปควบรวมใบอนุญาต
สำหรับการควบรวมใบอนุญาตเป็นการควบรวมปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงที่ต้องทำในกลุ่มสัตว์น้ำเดียวกัน โดยใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ 1 ใบ สามารถกระจายปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตให้กับใบอนุญาตเพื่อนำไปควบรวมได้หลายใบ
สมมติมีเรือประมงเหลือวันทำประมง 60 วัน แต่ไม่ต้องการทำการประมงแล้ว ชาวประมงคนใดต้องการทำประมงเพิ่มก็สามารถซื้อใบอนุญาตทำการประมงพร้อมเรือจากเจ้าของใบอนุญาตนั้นได้ โดยกรมประมงกำหนดให้มีการรวมวันทำการประมงของกลุ่มเรือแต่ละชนิดไม่เกิน 290 วันต่อปี จากการคำนวณวันทำประมงทั้งสิ้น 360 วัน ซึ่งเรือประมงที่ใบอนุญาตถูกนำไปควบรวมแล้วต้องนำไปทำลาย หรือบริจาคทำปะการังเทียมเท่านั้น
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการควบรวมใบอนุญาตในเรือประมงพาณิชย์เป็นการแก้ไขปัญหาทางหนึ่งที่ภาครัฐหยิบยื่นให้แก่ชาวประมงที่ต้องการวันทำประมงเพื่อทำมาหากิน โดยอยู่ในกรอบการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเรื่องไอยูยูของไทยในภายภาคหน้า.
นันท์ชยา ชื่นวรสกุล