สรรพากรลุยรีดภาษีคนโกง! “ประสงค์” ปิดประตูตีแมวเอสเอ็มอีหัวหมอ

Money

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สรรพากรลุยรีดภาษีคนโกง! “ประสงค์” ปิดประตูตีแมวเอสเอ็มอีหัวหมอ

Date Time: 1 ธ.ค. 2560 09:25 น.

Summary

  • กรมสรรพากรจะใช้ไม้แข็งกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษีมากขึ้น หลังพบบริษัทนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ประมาณ 430,000 ราย ที่เข้าร่วมโครงการบัญชีเดียว หรือ one account...

Latest

ทุ่มงบสร้างมอเตอร์เวย์ “M9” ครม.ไฟเขียวโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย”

“ประสงค์” จัดหนัก! ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหัวหมอเลี่ยงภาษี ใช้วิธีลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบัญชีเล่มเดียว แต่มีหลายเล่ม หวังไม่ถูกตรวจสอบย้อนหลัง รับสิทธิ์เว้นภาษีและลดภาษีเงินได้ พร้อมขู่พ่อค้าทอง จะเปิดโอกาสให้จดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลถึงสิ้นปี หากเลี่ยงจะส่งชื่อให้ ปปง.เพราะเข้าข่ายฟอกเงิน

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรจะใช้ไม้แข็งกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษีมากขึ้น หลังพบบริษัทนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ประมาณ 430,000 ราย ที่เข้าร่วมโครงการบัญชีเดียว หรือ one account มีเพียง 50% หรือประมาณ 150,000-160,000 รายเท่านั้นที่เสียภาษีถูกต้อง ที่เหลืออีก 50% มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษี ทำให้กรมสรรพากรต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบมากขึ้น เพราะมาตรการดังกล่าว ได้ประกาศใช้และมีผลบังคับทางกฎหมายตั้งแต่เดือน ธ.ค.2558 โดยจะมีผลในปีภาษี 2559

สำหรับโครงการบัญชีเล่มเดียวนั้น มีเงื่อนไขสำคัญ คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ร่วมโครงการจะไม่ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และยังได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีภาษี 2559 รวมถึงลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีภาษี 2560 กรณีบริษัทกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 10% ของกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท

“โครงการนี้คาดหวังได้ผู้ประกอบการที่ดีและเสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่ปรากฏว่ามีกว่าครึ่งที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข และยังมีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษี หรือมีบัญชีหลายเล่ม ซึ่งคงคิดว่ากรมสรรพากรไม่สามารถวิ่งไล่ตามได้ทัน เพราะสำนักงานบัญชีแนะนำ แต่กรมมีข้อมูลที่สามารถเอาผิดกับผู้ประกอบการเหล่านี้ได้ ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมาเป็นต้นไป”

นายประสงค์กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 2 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นบริษัทนิติบุคคล 600,000 ราย ที่เหลือเป็นวิสาหกิจชุมชน โอทอปและบุคคลธรรมดา โดยในจำนวนผู้ประกอบการ 600,000 ราย มีบัญชีเคลื่อนไหวหรือดำเนินธุรกิจประมาณ 400,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้สมัครเข้าร่วมโครงการบัญชีเล่มเดียว 340,000 ราย โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เสียภาษีไม่ครบถ้วนอยู่ในกลุ่มขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านอาหาร ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าทองคำ ร้านซ่อมรถ และร้านขายยา เป็นต้น

“กรมอยากย้ำเตือนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เสียภาษี ให้ครบถ้วนและถูกต้องตั้งแต่ปีนี้ เพราะตั้งแต่ปีปฏิทิน 2562 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินต้องใช้บัญชีภาษีที่ย่ืนให้แก่กรมสรรพากรมาเป็นเอกสารประกอบการยื่นขอกู้ ตามเงื่อนไขใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ดังนั้น ปีภาษีที่จะใช้เป็นเอกสารหลักฐานในการยื่นเรื่องกู้กับสถาบันการเงิน คือปีภาษี 2561”

ทั้งนี้ ภายในต้นเดือน ธ.ค.นี้ กรมสรรพากรจะเชิญผู้ประกอบการค้าทองคำ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 7,000 ราย และล่าสุดได้ยื่นจดทะเบียนเป็นบริษัทนิติบุคคลแล้ว 6,000 รายยังเหลืออีก 1,000 ราย ซึ่งใน 1,000 รายตรวจสอบพบยังเสียภาษีไม่ครบถ้วน กรมสรรพากรจะเชิญผู้ประกอบการเหล่านี้มาหารือและเปิดโอกาสเป็นครั้งสุดท้ายในการจดทะเบียนเป็นบริษัทนิติบุคคลถึงสิ้นปี 2560 “ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ออกมาตรการผ่อนปรนร้านค้าทองคำที่จดทะเบียนเป็นบริษัทนิติบุคคลจะไม่ถูกตรวจสอบย้อนหลัง ทำให้กรม สรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิมเดือนละ 3 ล้านบาท เพิ่มเป็น 100 ล้านบาท ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายกฎหมายฟอกเงิน และตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 เป็นต้นมา กรมสรรพากรได้ส่งรายชื่อบริษัทที่เข้าข่ายผิดกฎหมายฟอกเงินให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบแล้วหลายสิบรายเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท”

นายประสงค์กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีมากขึ้น มีการใช้จ่ายเงินผ่านระบบ QR Code เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการชำระเงินรูป แบบใหม่ที่ไร้เงินสด ทำให้ดุลพินิจเดิมๆ (คุยกันได้) ที่ใช้มานานกว่า 100 ปีก็ไม่สามารถใช้ได้ต่อไปแล้ว เพราะเทคโนโลยีทำให้ทุกอย่าง มีเอกสารและหลักฐานชัดเจน จึงต้องให้เอกชนรายย่อยปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง

ส่วนเรื่องการเก็บภาษี e-business นั้น ล่าสุดได้หารือกับสถาบันการศึกษา และเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะหากภาษีออนไลน์ในประเทศไม่แข็งแรง จะมีจุดอ่อนและถูกระบบออนไลน์ต่างประเทศโจมตีจนเกิดความเสียหายได้ เช่น ปัจจุบันเริ่มมีคนจีนขายออนไลน์มากขึ้น มูลค่าการค้าผ่านออนไลน์จึงสูงนับแสนล้านบาท โดยจะเร่งแก้ไขกฎหมาย 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.แก้ไขประมวลรัษฎากร 2.แก้ไขเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และ 3.มอบให้สถาบันการเงินหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เมื่อมีการชำระค่าสินค้าผ่านออนไลน์ คาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้กลางปีหน้า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ