ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาผลปาล์มดิบได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยราคาล่าสุด ณ วันที่ 29 พ.ย.60 ที่มีการรับซื้อที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% ต่ำสุดอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 3.40 บาท และสูงสุด กก.ละ 3.70 บาทเป็นการปรับตัวลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 4.20-4.30 บาท หรือลดลงเฉลี่ย 14-15% ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ทั้งๆที่ได้มีการปฏิบัติตามการส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ในการตัดปาล์มสุก เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันไม่ต่ำกว่า 18% และแม้จะทำได้ แต่ราคาก็ยังตกต่ำ
สำหรับสาเหตุที่ส่งผลให้ราคาผลปาล์มดิบตกต่ำเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ ล่าสุดปริมาณสต๊อกของ เดือน ต.ค.60 ได้ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 5.19 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.60 ที่มีสต๊อกประมาณ 2.37 แสนตัน ส่งผลให้ราคารับซื้อผลปาล์มดิบในเดือน พ.ย.60 ปรับตัวลดลง และมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับตัวลงอีกจนทำให้โรงงานชะลอการรับซื้อผลปาล์มดิบ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบ พบว่าความต้องการใช้จริงอยู่ที่เดือนละ 2 แสนตันเท่านั้นและเป็นการบริโภคภายใน และใช้ทำไบโอดีเซล
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาของกรมการค้าภายในก่อนหน้านั้นคือ ได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงพลังงานให้ประสานผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ให้สำรองไบโอดีเซล (B100) เพิ่มขึ้น และพิจารณาให้โรงงานผลิตไฟฟ้า จ.กระบี่ นำน้ำมันปาล์มไปเป็นเชื้อเพลิง แต่ก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
นายสิทธิพร จริยพงศ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สาเหตุที่ราคาผลปาล์มดิบปรับตัวลงมากในขณะนี้ เนื่องจากมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศมากถึง 5 แสนตัน จากช่วงปกติที่จะมีสต๊อกที่ 2-3 แสนตัน เป็นผลจากการที่เกษตรกรปลูกผลปาล์มในปีนี้เพิ่มเป็น 5.7 ล้านไร่ จากเดิมที่มีการปลูกปาล์มประมาณ 3 ล้านไร่ ส่งผลให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากถึง 1 ล้านตันต่อเดือน โดยทางกลุ่มเกษตรกรได้เสนอแนวทางแก้ไขเร่งด่วนในที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการตลาดปาล์มน้ำมัน โดยขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งส่งออกปาล์มน้ำมัน.