กระทรวงเกษตรฯ สำรวจพื้นเกษตรเสียหายจากน้ำท่วมล่าสุด 34 จังหวัด ประสบภัย 3.94 ล้านไร่ สัตว์บก–สัตว์น้ำกระทบหนัก หวั่นปีนี้ปลูก “ข้าวหอมมะลิ” ไม่ทันขายเสียหายหนัก สั่งเร่งให้เงินเยียวยาตามระเบียบราชการด่วน
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันเข้าไปแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สกลนครแล้ว โดยปริมาณน้ำในตัวเมืองลดลงแล้ว 20 เซนติเมตร (ซม.) คาดว่าภายใน 5-6 วัน สถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งจากการวิเคราะห์ของกรมชลประทานเส้นทางการระบายน้ำจากหนองหารสามารถดำเนินการได้เพียงทางเดียว คือ ระบายน้ำลงสู่ลำน้ำก่ำ ดังนั้น จึงได้สั่งการให้กรมชลฯ เร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอย่างน้อย 20 เครื่องเพื่อดันน้ำลงลำน้ำก่ำให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำในลำน้ำก่ำจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบกับพื้นที่ริมน้ำใน จ.นครพนม จึงได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเฝ้าระวัง และประกาศให้ประชาชนอย่างน้อยในเขตพื้นที่ประมาณ 50,000 ไร่ รับทราบเพื่อเตรียมแนวทางป้องกัน
สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 5-31 ก.ค.60 มีพื้นที่การเกษตรเสียหายแล้วกว่า 3 ล้านไร่ และบางพื้นที่เสียหายบางส่วน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะลงพื้นที่สำรวจความเสียหายอีกครั้ง ซึ่งหากพบการเสียหายอย่างสิ้นเชิง จะต้องชดเชยตามระเบียบของราชการ โดยข้าวอัตราไร่ละ 1,113 บาท สมทบกับมติของคณะรัฐมนตรี (วันที่ 1 ส.ค.) ที่เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงการคลัง ทั้งมาตรการภาษี และมาตรการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะหารือแนวทางช่วยเหลือปัจจัยการผลิตต่อไป โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวหอมมะลิที่ต้องเร่งปลูกไม่ให้เกินกลางเดือน ส.ค.นี้ไม่เช่นนั้นสภาพภูมิอากาศจะไม่เอื้ออำนวยให้ข้าวติดรวง
“ข้าวหอมมะลิซึ่งเพิ่งปลูก 15 วัน อาจเสียหายอย่างสิ้นเชิง ต้องดูว่ามีพื้นที่มากน้อยเพียงใด ส่วนข้าวที่ปลูกได้ 1 เดือน อันนี้ไม่ได้รับผลกระทบ ผมจึงสั่งให้ไปว่า ถ้าจะปลูกใหม่ทัน ให้เร่งปลูกหาเมล็ดพันธุ์ให้ทันกลางเดือนนี้”
ทั้งนี้ รายงานจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ กระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า ผลกระทบด้านการเกษตร 34 จังหวัด ประกอบด้วย เกษตรกร 468,105 ราย แบ่งเป็น ด้านพืช 34 จังหวัด เกษตรกร 415,598 ราย พื้นที่ประสบภัย 3.94 ล้านไร่ เป็น ข้าว 3.64 ล้านไร่ พืชไร่ 280,000 ไร่ พืชสวนและ อื่นๆ 20,000 ไร่ ด้านประมง 16 จังหวัด เกษตรกร 23,211 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 16,703 ไร่ ด้านปศุสัตว์ 10 จังหวัด เกษตรกร 29,296 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 560,561 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 69,975 ตัว สุกร 16,986 ตัว แพะ-แกะ 1,063 ตัว สัตว์ปีก 472,537 ตัว แปลงหญ้า 135 ไร่
ด้านนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงความเสียหายด้านการประมงจากเหตุอุทกภัย ตามรายงานการสำรวจเบื้องต้นที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 60 จนถึงปัจจุบันว่า มีเกษตรกรด้านการประมงประสบปัญหาจากเหตุอุทกภัยแล้ว 17 จังหวัด 104 อำเภอ ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ สกลนคร นครราชสีมา มหาสารคาม อุดรธานี บุรีรัมย์ นครพนม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี ล่าสุด รวมพื้นที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด 17,785 ไร่ 1,422 ตารางเมตร มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 24,786 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 148 ล้านบาท
โดยแนวทางการให้ความช่วยเหลือ จะได้รับเฉพาะเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ขึ้นทะเบียนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกับกรมประมงเท่านั้น คือ 1.กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล ปูทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 10,920 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ 2.ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,225 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ และ 3.กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเลปูทะเล หรือหอยทะเล ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะคล้ายคลึงกัน ตารางเมตรละ 315 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร ทั้งนี้ หากเกษตรกรรายใด คำนวณพื้นที่การเลี้ยงแล้วได้รับการช่วยเหลือคิดเป็นเงินต่ำกว่า 315 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 315 บาท
ขณะที่นายวัฒนา คงแก้ว ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ พบว่าสวนยางภายใต้ความดูแลของ กยท. ในจังหวัดสกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์ ที่ได้รับผลกระทบ และเบื้องต้นได้รับรายงานจาก กยท. จ.นครพนม ว่า เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ ต.หนองบ่อ อ.นาแก มีสวนยางได้รับความเสียหายและเป็นไปตามเกณฑ์ได้รับการเยียวยาจาก กยท.ตามมาตรา 49 (5) ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินสวัสดิการให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบอุทกภัย ประมาณ 10 ราย ซึ่ง กยท.จึงจะเร่งดำเนินการมอบเงินให้เกษตรกรที่สวนยางพาราเกิดความเสียหายรายละ 3,000 บาทโดยเร็วที่สุด.