พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้โยกมาตรการค่าไฟฟ้าฟรี ซึ่งเป็นครัวเรือนที่ใช้ต่ำกว่า 50 หน่วยต่อเดือน วงเงินเดือนละ 200 บาทต่อคน และโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน วงเงิน 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ที่มีผู้อยู่ภายใต้ระบบ 7 ล้านคน ไปอยู่ภายใต้แนวทางการให้สวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการ ของกระทรวงการคลัง ที่จะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้แทน โดยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งได้ขยายฐานผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน
“ระบบใหม่นี้เป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยตรง ช่วยบรรเทาค่าครองชีพได้ดีกว่าระบบเดิม ที่พลังงานดำเนินการอยู่ ขณะเดียวกัน จะทบทวนการช่วยเหลือค่าแอลพีจีกับกลุ่มหาบเร่แผงลอย ที่มาลงทะเบียนไว้ 380,000 คน แต่ใช้จริง 120,000 คน เพราะช่วยเหลือไม่ตรงจุด และไม่ได้ทำให้ราคาอาหารลดลง อีกทั้งไม่รู้ด้วยว่า หาบเร่แผงลอยไหนที่ได้รับการช่วยเหลือ แต่จะยกเลิกไปเลยหรือไม่ ขอนำไปพิจารณาก่อน ที่ผ่านมาได้นำเงินจากกองทุนน้ำมันไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่ใช้แอลพีจี เดือนละ 1.1 ล้านบาท และช่วยหาบเร่แผงลอยเดือนละ 27 ล้านบาท ส่วนการช่วยเหลือของกระทรวงการคลังในช่วงต่อไปจะใช้เงินจากงบประมาณของประเทศแทน”
ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กพช. เห็นชอบแนวทางการแข่งขันธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โดยให้ทำโครงการนำร่องเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดการแข่งขันเสรีอย่างเต็มรูปแบบ จึงมอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) รายใหม่จากเดิมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดหารายเดียว ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี และเริ่มจัดหาภายในปี 2561 โดยใช้หลักเกณฑ์การนำเข้าเช่นเดียวกับ ปตท. นอกจากนี้ ได้เห็นชอบแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจีเต็มรูปแบบ โดยให้ยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน และโรงอะโรเมติก รวมทั้งยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังแอลพีจี เพื่อให้ตลาดแอลพีจีแข่งขันอย่างสมบูรณ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป.