รถไฟไทย-จีนไร้ปัญหา ม.44 เตรียมจัดคอร์สอบรม-ทดสอบวิศวกรจีน

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รถไฟไทย-จีนไร้ปัญหา ม.44 เตรียมจัดคอร์สอบรม-ทดสอบวิศวกรจีน

Date Time: 20 มิ.ย. 2560 05:01 น.

Summary

  • “อาคม” มั่นใจใช้ ม.44 รถไฟไทย–จีน ไร้ปัญหา ช่วยลดขั้นตอนได้แน่ เตรียมเสนอบอร์ดสภาพัฒน์เห็นชอบก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ–นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาทเดือน มิ.ย.นี้ เริ่มปักเสาเข็มเดือน ก.ย.นี้

Latest

­­­ปิดจบบัญชีม้าบุคคล 1.92 ล้านบัญชี 6 หน่วยงานรัฐลุย “ม้านิติบุคคล” หลังแนวโน้มพุ่ง

“อาคม” มั่นใจใช้ ม.44 รถไฟไทย–จีน ไร้ปัญหา ช่วยลดขั้นตอนได้แน่ เตรียมเสนอบอร์ดสภาพัฒน์เห็นชอบก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ–นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาทเดือน มิ.ย.นี้ เริ่มปักเสาเข็มเดือน ก.ย.นี้ ด้าน “นายกวิศวกรรมสถานฯ” เผยสบายใจ หลังรัฐรับลูกสร้างกลไกรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน ว่า โครงการฯในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 179,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) สภาพัฒน์ คาดว่า จะอนุมัติภายในเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ และจะก่อสร้างได้ในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 30/60 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา นั้น การดำเนินงานจะรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องผ่านกฎหมายหลายฉบับ แต่คำสั่งนี้จะเน้นเฉพาะจัดจ้างฝ่ายจีน ส่วนการประมูลก่อสร้างงานโยธาจะดำเนินการตามขั้นตอนปกติ “กรณีที่มาตรา 44 ยกเว้นกฎหมายให้วิศวกรและสถาปนิกจีนนั้น สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกของไทยได้หารือกันเพื่อเตรียมหลักสูตรการฝึกอบรม และทดสอบแก่จีน ซึ่งทั้ง 2 สภาวิชาชีพ จะหารือกับกระทรวงคมนาคมเร็วๆนี้”

ด้านนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังการหารือกับนายพิศิษฐ์ แสงชูโต กรรมการสภาวิศวกร และ พล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ เกษมสันต์ กรรมการสภาสถาปนิก เกี่ยวกับคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ยกเว้นให้วิศวกรและสถาปนิกจากจีนดำเนินโครงการ โดยยกเว้นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพว่า ทั้ง 2 องค์กรยืนยันว่าต้องมีการทดสอบความรู้เกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพ รวมถึงสภาพทางกายภาพของประเทศ โดยจะจัดอบรมให้ความรู้และทำการทดสอบให้ ซึ่งทั้ง 2 สภาฯจะหารือกันวันที่ 20 มิ.ย. เพื่อกำหนดรูปแบบและวิธีการทดสอบ และข้อยกเว้นนี้จะมีผลเฉพาะโครงการรถไฟไทยจีนเท่านั้น

ส่วนรายละเอียดและข้อสรุปในการหารือกับจีน นายชาติชายกล่าวว่า มูลค่าโครงการชัดเจนแล้ว ส่วนแบบต่างๆ อยู่ระหว่างการทยอยส่ง โดยจะส่งช่วงแรก 3.5 กม. และช่วง 2 อีก 11 กม.ได้ก่อน จากนั้นภายใน 4 เดือน จะส่งแบบช่วงที่ 3 และภายใน 6 เดือน จะส่งแบบช่วงสุดท้าย ส่วนที่ยังไม่ได้ข้อยุติคือ วงเงินค่าจ้างที่ปรึกษา ซึ่งต้องหาข้อสรุปให้เร็วที่สุด ก่อนลงนามความตกลง 2 ส่วนแรกคือ การว่าจ้างจีนออกแบบรายละเอียด และเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง

ขณะที่นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวภายหลังหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า เสนอให้รัฐบาลมีกลไกรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีน ซึ่งนายวิษณุเห็นด้วย และจะเสนอให้นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง คสช. และ ครม. รับทราบวันที่ 20 มิ.ย.นี้ “ครั้งแรกที่ดูมาตรา 44 ผมนอนไม่หลับ เป็นห่วงการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ตอนนี้สบายใจหลังรัฐบาลรับฟัง จากนี้วิศวกรรมสถานฯจะเป็นศูนย์กลางรับฟังความเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอกลไกรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อรัฐบาล เบื้องต้นจะส่งวิศวกรไปประกบ ตั้งแต่เริ่มต้นศึกษาเส้นทาง การออกแบบ โครงสร้างฐานราก การวางราง ระบบรถ การทดสอบระบบเหนือรางและใต้ราง ระบบความปลอดภัย และต้องทำเป็นรายงานให้ลูกหลานวิศวกรทำงานต่อได้ในอนาคต”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ