“ฐากร” ชี้ “ไลน์ โมบาย” หากจะให้บริการมือถือต้องขอใบอนุญาต ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตามล่าหาความจริงซิมแก๊งต่างชาติรับจ้างกดไลค์ ขณะที่ไลน์ ขอเลื่อนชี้แจงขายซิมไปเป็นสัปดาห์หน้า “พาณิชย์” มองอีคอมเมิร์ซมีโอกาสโตต่อ พบคนไทยใช้สมาร์ทโฟนกว่า 46 ล้านเครื่อง ใช้เฟซบุ๊กอันดับ 3 ของโลก
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า บริษัท ไลน์ พลัส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ขอเลื่อนเข้าชี้แจงเกี่ยวกับการเปิดตัวซิมการ์ดของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหม่ของประเทศ ภายใต้ชื่อ “ไลน์ โมบาย” (Line mobile) เป็นสัปดาห์หน้า เนื่องจากติดภารกิจที่ประเทศญี่ปุ่น กสทช.ยังไม่มีข้อสรุปของกรณีไลน์ โมบาย เนื่องจากต้องรอการชี้แจงจากไลน์อย่างเป็นทางการอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นเพียงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในการเปิดตัวซิมการ์ดมือถือเท่านั้น ทางไลน์ และทางบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ก็ได้ยุติการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ หากไลน์ต้องการประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ ต้องยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ประเภทที่ 1 แบบไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง (เอ็มวีเอ็นโอ) เพราะหากไม่มีใบอนุญาต ก็เปิดให้บริการไม่ได้ และถ้าเปิดบริการจริง ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
นายฐากรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของ กสทช.ลงพื้นที่ จ.สระแก้ว เพื่อตรวจสอบซิมการ์ดมือถือร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสระแก้ว และค่ายมือถือเพื่อตรวจสอบว่าซิมการ์ดจำนวน 347,200ซิม ซึ่งเป็นซิมโทรศัพท์ที่ใช้รับจ้างกดไลค์ กดแชร์ ของแก๊งต่างชาติว่า มีการลง ทะเบียนซิมหรือไม่ และมีการใช้จริงจำนวนเท่าใด และนำกลับมารายงานให้เลขาธิการรับทราบภายในวันที่ 21 มิ.ย.60 นี้ สำหรับการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า ซิมมือถือจำนวน 347,200 ซิมนั้น แบ่งเป็น ดีแทค 104,000 ซิม ทรูมูฟ 131,000 ซิม และเอไอเอส 112,200 ซิม ส่วนประเด็นการหลอกลวงผู้บริโภคนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการดำเนินการของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวภายหลังตัวแทนดีแทคมาชี้แจงการเปิดตัวซิมการ์ดของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหม่ของประเทศ ภายใต้ชื่อ ไลน์ โมบาย ซึ่งใช้โครงข่ายดีแทคว่า ยังขอไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆ มิเช่นนั้นจะเป็นการช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์แบรนด์ไลน์โมบาย และต้องรอให้ไลน์มาชี้แจงก่อน
วันเดียวกัน นางลลิดา จิระนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยในการเปิดงาน Thailand e-Commerce Day 2017 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด The edge of Digital Commerce :พลิกธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล เพิ่มช่องทางการขาย เพิ่มรายได้ด้วยการค้าแบบออนไลน์” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า ปัจจุบันนี้ ไทยมีประชากรที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 90 ล้านเครื่อง และในจำนวนนี้เป็นสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ถึง 46 ล้านเครื่อง และยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กถึง 35 ล้านราย มากเป็นอันดับ 3 ของโลก แสดงให้เห็นว่าโอกาสในการค้าขายสินค้าผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น
โดยมูลค่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 10% ในแต่ละปีมีมูลค่าตลาด 2.4 ล้านล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการค้าขายประเภทธุรกิจต่อธุรกิจ (บีทูบี) ขณะที่การค้าขายธุรกิจต่อผู้บริโภค (บีทูซี) ยังไม่มากประมาณ 300,000 ล้านบาทต่อปี แต่พบว่ามีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่การซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และขยายตัวแบบก้าวกระโดด ถือว่าเป็นรูปแบบใหม่ของธุรกิจ โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมทางออนไลน์ เช่น สินค้าแฟชั่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสื่อสาร อาหาร และสินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นต้น
กรมยังได้มอบรางวัล Best e-Commerce Website Award 2017 สุดยอดเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งปีให้ 9 เว็บไซต์ ได้แก่ www. cmart.co.th บริษัทซี ดีสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, www.central.co.th บริษัท เซ็นทรัล ออนไลน์ จำกัด, www.primonly.com นายณภัทร แสงรุ่งเรือง, www.shop.thaiware.com บริษัทไทยแวร์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด, www.Lnwmall.com บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด, www.shop sawadee.com นางกรกนก พันธ์ธรรม, www.orami. co.th บริษัท ว้อทส์นิว จำกัด, www.trueselect.com บริษัท ทรู จีเอส จำกัด และ www.beautynista.com บริษัท บิวตี้ นิสต้า จำกัด.