รมว.พาณิชย์ เผยกรณีชาติอาหรับบอยคอตกาตาร์ รับเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบ ขณะที่ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ชี้เบื้องต้น กระทบส่งสินค้าทางถนน จากดูไบไปการ์ตา
วันที่ 6 มิ.ย. 60 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ชาติอาหรับบอยคอตกาตาร์ หลังจากสนับสนุนกลุ่มไอซิสว่า ขณะนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกสินค้าไทยไปยังการ์ตา แต่โดยทั่วไป ไทยส่งออกสินค้าทางเครื่องบินไปยังเมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ด้วยหลายสายการบิน หากมีการงดบินไปกาตาร์ ไทยอาจต้องส่งออกสินค้าเข้ากาตาร์โดยผ่านประเทศอื่นแทน อย่างไรก็ตาม ไทยพยายามจะขยายการค้า การลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางให้มากขึ้น เช่น บาห์เรน โอมาน
สำหรับการส่งออกของไทยไปกาตาร์ในช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ของปีนี้ มีมูลค่าราว 102 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น อาหาร เป็นต้น ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกของไทย ต้องใช้เวลาอีกสักระยะ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะคิดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ด้านนางมาลี โชคล้าเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองดูไบ ว่าผลกระทบต่อการค้าของไทยเบื้องต้นคือ การขนส่งสินค้าทางถนนผ่านทางดูไบไปกาตาร์ จะไม่สามารถดำเนินการได้ แต่การส่งสินค้าทางอากาศจากไทยมายังกาตาร์ ยังทำได้โดยใช้สายการบิน Qatar Airways ซึ่งบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ และกรุงโดฮา หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การส่งออกของไทยมายังกาตาร์จะต้องส่งตรงเข้า Doha Port แทนการส่งผ่านดูไบ
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น สินค้าไทยที่ส่งออกไปกาตาร์ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ได้แก่ อัญมณี และผักผลไม้สด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางอากาศเป็นหลักอยู่แล้ว ส่วนรถยนต์ เครื่องปรับอากาศและตู้เย็น อาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันใช้การขนส่งผ่านแดนจากดูไบ แต่เนื่องจากตัวเลขการค้าผ่านแดน ระหว่างดูไบไปยังกลุ่มประเทศ อ่าวอาหรับ (GCC) เป็นตัวเลขที่ไม่เปิดเผย ทำให้เป็นการยากที่จะระบุมูลค่าที่แน่นอน ของการส่งออกของไทยผ่านดูไบไปกาตาร์ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 3 ของไทยใน GCC รองจากซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อ้านวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบด้านการค้าระหว่างไทยกับกาตาร์ อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง จากเศรษฐกิจของกาตาร์ที่มีความเสี่ยงจะชะลอตัว โดย สนค.มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจกาตาร์อาจจะกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ใน 3 ด้าน คือ 1. ด้านสายการบิน Qatar Airways ไม่สามารถให้บริการ และบินผ่านน่านฟ้าของประเทศที่ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูต ทำให้รายได้ลดลงและต้นทุนเพิ่มขึ้น
2. ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 40% ของอาหารที่นำเข้าต้องผ่านชายแดนเพื่อนบ้าน ดังนั้น ต้นทุนของอาหารจะเพิ่มขึ้นและอาจเกิดการขาดแคลนได้ และ 3. รายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติอาจจะลดลง โดยกาตาร์เป็นผู้ผลิตก๊าซ NPG รายใหญ่สุดของโลก (ประมาณ 30% ของการผลิตทั้งหมด) และตลาดส่งออกที่สำคัญ ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และจอร์แดน ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจของกาตาร์อาจจะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง.