นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.สนับสนุนมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน และเสริมสร้างวินัยจราจรแก่ประชาชน โดยเป็นการปรับแก้ข้อยกเว้นตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 22/2551 ลงวันที่ 29 ก.ย.2551 โดยการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดให้ถือว่า เมาสุรา ซึ่งคำสั่งนี้ให้มีผลใช้บังคับสำหรับการทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป
“คปภ.ได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆเกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย อย่างรอบคอบแล้ว เห็นว่าการปรับแก้ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เรื่องลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกกำหนดจะเป็นผลดีต่อประชาชนมากกว่า โดยจะเป็นมาตรการที่ช่วยส่งเสริมการรณรงค์เมาไม่ขับและช่วยสนับสนุนความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน”
สำหรับสาระสำคัญของคำสั่งนี้คือ กรณีที่ผู้ขับขี่รถเอาประกันภัยภาคสมัครใจ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประสบอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากกรมธรรม์ แต่ในส่วนของผู้ประสบภัยหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากรถคันที่เอาประกันภัยดังกล่าว ยังคงได้รับความคุ้มครอง โดยบริษัทประกันภัยของรถคันที่เอาประกันภัยฝ่ายผิดจะต้องให้ความคุ้มครองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยบริษัทประกันภัยจะไปไล่เบี้ยเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทจ่ายไปจากผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อไป
“ปัจจุบันอุบัติเหตุบนถนนในประเทศไทย มีสถิติผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน จำเป็นต้องใช้หลายมาตรการในการขับเคลื่อนและมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยจากสถิติข้อมูลพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่พบอันดับต้นๆ คือ การเมาแล้วขับ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง คปภ.จึงทำงานร่วมมือกับหลายฝ่ายและหน่วยงานต่างๆ เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางและมาตรการต่างๆ เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน”.