พาณิชย์ เผยส่งออก มี.ค.ทะลุ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบ 29 เดือน ส่วนยอดไตรมาสแรกโต 4.9% สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส มั่นใจเป้า 5% เป็นไปได้สูง จากราคาน้ำมันขยับ ระวังความเสี่ยงการเมือง-ความไม่ชัดเจนนโยบายทรัมป์
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือน มี.ค. 60 การส่งออกมีมูลค่า 20,887.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.22% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้ง หลังจากเดือน ก.พ. 60 ติดลบ 2.76% และยังเป็นมูลค่าที่สูงเกิน 20,000 ล้านเหรียญฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 29 เดือน นับจากเดือน ต.ค. 57 ที่ได้ 20,205.8 ล้านเหรียญฯ เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 726,021 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.32% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,270.7 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 19.26% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 678,048.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.22% และเกินดุลการค้ามูลค่า 1,616.9 ล้านเหรียญฯ หรือ 49,590.2 ล้านบาท
ขณะที่ ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปีนี้ การส่งออกมีมูลค่า 56,456.4 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 4.88% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส หรือในรอบกว่า 4 ปี สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวในระดับที่ดีของไทยตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และยังเป็นไปในทิศทางการฟื้นตัวของการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์เอาไว้ โดยเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 1.985 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.07% การนำเข้ามีมูลค่า 52,403.6 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 14.85% หรือ 1.863 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.93% และเกินดุลการค้า 4,052.8 ล้านเหรียญฯ หรือ 123,510.5 ล้านบาท
“การขยายตัวของการส่งออกของไทยในขณะนี้ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับ มีแรงผลักดันมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งสอดคล้องกับที่องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ประเมินไว้ว่าภาวะการค้าโลกในเดือน ก.พ.ปีนี้เติบโตถึง 6.4%”
สำหรับทิศทางการส่งออกจากนี้ไป มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และมีแนวโน้มที่มูลค่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กระทรวงฯ ตั้งไว้ที่ 5% จากปีก่อน โดยราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งยางพารา น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย
อย่างไรก็ตาม ต้องระวังความเสี่ยงจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในภูมิภาคต่างๆ ทั้งคาบสมุทรเกาหลี ซีเรีย ความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหภาพยุโรป (อียู) ที่หลายประเทศมีการเลือกตั้งผู้นำใหม่ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยน และเพิ่มความไม่แน่นอนของการค้า และการลงทุนของโลกในระยะต่อไป