'พาณิชย์'ถกรัฐ-เอกชนหาข้อมูลตอบมะกัน เหตุขาดดุลการค้าตามคำสั่ง'ทรัมป์'

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

'พาณิชย์'ถกรัฐ-เอกชนหาข้อมูลตอบมะกัน เหตุขาดดุลการค้าตามคำสั่ง'ทรัมป์'

Date Time: 23 เม.ย. 2560 16:06 น.

Video

Starbucks ถึงยุคสิ้นมนต์ขลัง? | BrandStory EP.18

Summary

  • "พาณิชย์" ถกหน่วยงานรัฐ-เอกชน หาข้อมูลตอบคำถามส่ง "พาณิชย์มะกัน" ประกอบทำรายงานหาเหตุขาดดุลการค้า ตามคำสั่ง "ทรัมป์" ภายใน 10 พ.ค.นี้ พร้อมสั่งทูตพาณิชย์ประจำวอชิงตัน ชี้แจงละเอียด 18 พ.ค.นี้ ย้ำเน้นตอบข้อสงสัยประเด็นกังวล

"พาณิชย์" ถกหน่วยงานรัฐ-เอกชน หาข้อมูลตอบคำถามส่ง "พาณิชย์มะกัน" ประกอบทำรายงานหาเหตุขาดดุลการค้า ตามคำสั่ง "ทรัมป์" ภายใน 10 พ.ค.นี้ พร้อมสั่งทูตพาณิชย์ประจำวอชิงตัน ชี้แจงละเอียด 18 พ.ค.นี้ ย้ำเน้นตอบข้อสงสัยประเด็นกังวล ทั้งทรัพย์สินทางปัญญา-นโยบายการค้าที่มะกันแฉในรายงาน NTE มั่นใจนโยบายไทยไม่เอาเปรียบชัวร์...           

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 60 น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการที่ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดให้คู่ค้า 13 ประเทศ ตอบคำถามด้านนโยบายการค้า เพื่อนำมาประกอบการจัดทำรายงานสาเหตุการขาดดุลการค้า ตามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดี (Executive Order) ภายใน 90 วัน โดยให้ส่งคำตอบกลับภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ว่า ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลต่างๆ ตามที่สหรัฐฯ ขอมา โดยเริ่มทยอยหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคธุรกิจไทย และสหรัฐฯ ที่ทำการค้า การลงทุนกับสหรัฐฯ ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จะส่งให้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ตามกำหนด และจะสั่งการให้อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ (สพต.) ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ ในการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะด้วย

"ในเรื่องดุลการค้า จะมองเฉพาะการค้าสินค้าอย่างเดียวไม่ได้ เพราะยังมีการค้าบริการ และการลงทุนอีก ซึ่งสินค้าหลักๆ ที่ส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ลงทุนโดยคนอเมริกัน หรือคนต่างชาติในไทย ไม่ใช่ของคนไทยทั้งหมด ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำข้อมูลให้รอบด้าน โดยต้องหารือกับทั้งหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนของสหรัฐฯ และกับสหรัฐฯ" น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าว

ปลัดฯ พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า จะเน้นตอบคำถามในเรื่องที่สหรัฐฯ หยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุมร่วมกันภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้า และการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (TIFA) เมื่อต้นเดือน เม.ย. โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในรายงานประเมินสถานการณ์การค้าของประเทศคู่ค้าประจำปี 60 (2017 National Trade Estimate on Foreign Trade Barriers:NTE) ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และคำถามเกี่ยวกับนโยบายการค้าอื่นๆ ของไทย ที่สหรัฐฯ ต้องการให้ตอบด้วย สำหรับในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ตนเห็นว่ามีความคืบหน้าในการป้องกันและปราบปรามอย่างเห็นได้ชัด จนภาคเอกชนสหรัฐฯ เสนอให้ USTR ปรับสถานะของไทยด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้ดีขึ้นมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) ในการทบทวนสถานะประจำปี 60 ที่จะประกาศผลสิ้นเดือน เม.ย.นี้ จากที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาเกือบ 10 ปี ส่วนข้อกังวลของสหรัฐฯ ประเด็นเสียเปรียบการค้าจากความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) นั้น ไทยไม่ได้ทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ มีแต่ทำสนธิสัญญาไมตรีระหว่างกันมายาวนาน ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากไทยมากอยู่แล้ว

"การดำเนินการของไทยด้านทรัพย์สินทางปัญญา มีความคืบหน้า และน่าจะเป็นสถานการณ์ win win ทั้งของไทย และสหรัฐฯ เชื่อว่า คำตอบของไทย น่าจะเป็นสิ่งยืนยันได้ดีที่สุดว่า ไทยไม่มีนโยบายการค้าที่เป็นการเอาเปรียบสหรัฐฯ จนทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยเลย" ปลัดฯ พาณิชย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ภายใน 90 วัน โดยพุ่งเป้าหมายไปที่ 13 ชาติ คือ แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม สำหรับสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการคำตอบคือ สาเหตุหลักของการขาดดุล โดยพิจารณาถึงนโยบายการค้าด้านต่างๆ ของประเทศคู่ค้า รวมถึงกฎระเบียบ กฎหมาย หรือการปฏิบัติที่เพิ่มภาระ หรือการเลือกปฏิบัติ จนเกิดความไม่เป็นธรรมต่อการค้าของสหรัฐฯ และกระทบต่อการจ้างงาน ค่าจ้าง และอุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯ เป็นต้น

ส่วนรายงาน NTE ปีนี้ USTR ระบุว่า ในปี 59 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสินค้ากับไทย 18,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.7% หรือ 1,500 ล้านเหรียญฯ จากปี 58 โดยสหรัฐฯ ส่งออกสินค้ามาไทย 10,600 ล้านเหรียญฯ ลดลง 5.9% หรือ 658 ล้านเหรียญฯ แต่นำเข้าจากไทย 29,500 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 3.0% ส่วนนโยบายต่างๆ ของไทยที่เป็นปัญหาและอุปสรรคกับการค้าสหรัฐฯ ถือเป็นการกีดกันการเข้าสู่ตลาดของสหรัฐฯ เช่น ไทยออกกฎหมายติดฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารสำหรับทารก และเด็กอายุ 0-36 เดือน, จำกัดการนำเข้าเนื้อวัว และผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ เพราะโรควัวบ้าตั้งแต่ปี 46 ปัจจุบันให้นำเข้าได้เฉพาะเนื้อวัว และผลิตภัณฑ์ไร้กระดูก นอกจากนี้ ยังมีการจำกัดการนำเข้าภายใต้กฎหมายต่างๆ เช่น นำเข้าอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา วิตามิน เครื่องสำอาง ต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ควบคุมเพดานราคาน้ำตาล น้ำมันพืช นม น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส ยา ชุดนักเรียน, เก็บภาษีสรรพสามิตสินค้านำเข้าสูงกว่าสินค้าในประเทศ เช่น ยาสูบ น้ำมันไร้สารตะกั่ว เบียร์ ไวน์ เหล้า, ยังมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่มาก โดยเฉพาะการละเมิดบนออนไลน์ และผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น กังวลเกี่ยวกับการอนุมัติจดทะเบียนสิทธิบัตรที่ยังค้างจำนวนมาก ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายทั้งภาคเอกชนและประชาชน ขโมยสัญญาณดาวเทียม และเคเบิล, จำกัดการลงทุนในบางธุรกิจบริการ เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ