ที่ประชุมบอร์ดอีอีซี ไฟเขียวพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา "เมืองการบินภาคตะวันออก" ปรับปรุงระบบรางไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน ให้วิ่งเส้นทางร่วมรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์...
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ EEC นัดแรกที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกองทัพเรือให้ประกาศพื้นที่ 6,500 ไร่ ของสนามบินอู่ตะเภา เป็นเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก "เมืองการบินภาคตะวันออก" พร้อมระดมการลงทุนในกิจกรรมสำคัญ อาทิ เพิ่มทางวิ่งมาตรฐานอีก 1 ทางวิ่ง ลงทุนในกลุ่มกิจกรรมหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอาคารผู้โดยสารและการค้า 2. กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน 3. กลุ่มธุรกิจขนส่งทางอากาศ 4. กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบิน และ 5. กลุ่มศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรอากาศยานและธุรกิจการบิน
ขณะที่ในอนาคตอาจมีอีก 3 กิจกรรมเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียง คือ 1. กลุ่มธุรกิจท่าเรือพาณิชย์ 2. ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้าน และ 3. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวมถึงให้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน จัดทำรูปแบบให้เอกชนร่วมทุน และจัดทำสัญญาการร่วมทุนกับเอกชนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมให้ปรับปรุงระบบขนส่งทางรางให้รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม. สามารถวิ่งเชื่อมโยงทั้ง 3 สนามบิน คือ สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา โดยวิ่งให้บริการในเส้นทางร่วมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สุวรรณภูมิ และแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนขยาย พญาไท-ดอนเมือง ซึ่งผู้โดยสารจะใช้เวลาเดินทางจาก กทม.-ระยอง โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งทำการศึกษาความเหมาะสมและขอรับการจัดสรรงบประมาณ
พร้อมรับทราบความก้าวหน้าการปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นใน 3 เรื่อง คือ เร่งรัดกระบวนการร่วมทุนกับเอกชนสำหรับโครงการสำคัญใน EEC ให้แล้วเสร็จภายใน 8-10 เดือน, เรื่องของเขตปลอดอากรที่ปลอดเอกสาร เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว, การชักจูงผู้ลงทุนรายสำคัญมาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมดิจิทัล และศูนย์การแพทย์
นายคณิศ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการพัฒนาเขตเทคโนโลยีระดับโลกของไทย 2 แห่ง คือ 1. เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ระยะแรก พื้นที่ 350 ไร่ ที่วังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออกโดยเร็ว และ 2. เขตนวัตกรรมดิจิทัลภาคตะวันออก ในพื้นที่ 800 ไร่ บริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ดำเนินการต่อไป.