นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและคมนาคม การท่องเที่ยว การลดผลกระทบส่งออกและเพิ่มผลิตภาพ ตลอดจนเศรษฐกิจชุมชนและอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อรักษาการจ้างงาน และวางรากฐาน
โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในระหว่างการประชุม ครม. ว่า แผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฯ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการเร่งรัดการใช้จ่ายผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถดำเนินการได้ โดยจะส่งผลให้เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้ และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในทุนมนุษย์และการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และวางรากฐานการพัฒนาในระยะยาว ภายใต้การติดตามแผนการขับเคลื่อน ฯ อย่างรอบคอบ เพื่อให้การใช้งบประมาณ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้กำหนดให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำข้อเสนอโครงการ ผ่านรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา พร้อมเสนอโครงการดังกล่าวต่อสำนักงบประมาณภายในเดือนืพ.ค. ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ภายในเดือนมิ.ย. และสำนักงบประมาณจะพิจารณารายละเอียดโครงการและจัดสรรงบประมาณให้ ภายในเดือนก.ค. 2568
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัตร รมช.คลัง เปิดเผยว่า หน่วยงานที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณไปทำโครงการและนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน 2 สัปดาห์จากนี้ ซึ่งคณะกรรมการจะอนุมัติโครงการที่ส่งคำขอมาภายเดือน ก.ค.นี้ สำหรับโครงการที่เสนอของบประมาณเข้ามาจะต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อม และเกิดเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชน เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจจริงๆ โดยคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้เขียนเงื่อนไขไว้ เพื่อเป็นข้อยืนยันว่าการเบิกจ่ายเงินจะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและคอยประคับคองมรสุมทางเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปได้
“การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท 2 เฟสที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโตได้ 3% ต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ซึ่งเราไม่เห็นแบบนี้มานานแล้วใครจะไปคาดคิดว่าจะสงครามการค้าของการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรของสรัฐเกิดขึ้นเมื่อเกิดขึ้นก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ให้ตอบโจทย์กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 น่าจะทรงๆ ยังไม่เจอผลกระทบ ส่วนไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก รัฐบาลจึงวางโครงการที่เสนอเข้ามาจะต้องสามารถทำสัญญาผูกพันงบประมาณให้ได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2568 หรือช้าสุดภายใน 30 ก.ย. 2568 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ในการผูกงบประมาณไม่ได้หมายความว่างบประมาณจะเบิกจ่ายทั้งหมดภายในเดือนก.ย. แต่รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตาม”
สำหรับแอปทางรัฐที่มีประชาชนลบแอปพลิเคชันออกไป ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าการให้สวัสดิการของรัฐบาลก็จะผ่านช่องทางนี้ รวมถึงมาตรการอื่นๆ เช่น บัตรสวัสดิการ (ในอนาคต) มาตรการท่องเที่ยวซึ่งจะใช้แอพทางรัฐเป็นช่องทางหลักในการให้บริการประชาชน
“โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะกลับมาพิจารณาอีกครั้ง หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดี วันหนึ่งถ้าถึงความพร้อมเราจะกลับมาพิจารณากันอีกครั้ง ซึ่งต้องประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจรายไตรมาส และผลการเจรจามาตรการภาษีศุลกากรระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องการกู้เงิน 500,000 ล้านบาท รัฐบาลยังไม่ได้หารือกัน ตอนนี้จะเอาเงิน 157,000 ล้านบาทไปกระตุ้นเศรษฐกิจก่อน“