สินเชื่อหดแต่แบงก์ยังไม่หุบร่ม  หนี้เสียเอสเอ็มอี-สินเชื่อบ้าน 5 ล้านพุ่งพรวด

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สินเชื่อหดแต่แบงก์ยังไม่หุบร่ม หนี้เสียเอสเอ็มอี-สินเชื่อบ้าน 5 ล้านพุ่งพรวด

Date Time: 21 พ.ค. 2568 07:30 น.

Summary

  • สินเชื่อแบงก์ไตรมาสแรก 2568 หดตัว 1.3% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการชำระหนี้อยู่ในระดับสูง แบงก์ยังไม่ถึงกับหุบร่ม ลูกหนี้ดียังกู้ได้ ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 548,000 ล้านบาท โดยเฉพาะหนี้เสียบ้านระดับราคา 5 ล้านบาทและเอสเอ็มอี ส่วนโครงการคนสู้เราช่วย ระยะที่ 2 จ่อขยายกลุ่มลูกหนี้ คลอดกลางมิ.ย.นี้

Latest

กระทุ้งทีมไทยแลนด์เร่งจบเจรจาสหรัฐ หวั่นไม่ทันฤดูรับคำสั่งซื้อปลายปี

น.ส.เสาวนีย์ เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกปี 2568 ว่า ยังมีความมั่นคง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ส่วนผลประกอบการที่มีกำไร ส่วนหนึ่งมาจากการลดต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะงบด้านโฆษณาและการตลาด เนื่องจากไม่ต้องการเร่งเสนอขายผลิตภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2568 ที่หดตัว 1.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวลงต่อเนื่อง 3 ไตรมาส โดยแม้ว่าสินเชื่อใหม่จะยังมีการปล่อยอยู่ แต่การชำระคืนหนี้ที่อยู่ในระดับสูง เมื่อหักกลบระหว่างตัวเลขการปล่อยสินเชื่อกับการคืนหนี้แล้ว ทำให้สินเชื่อขยายตัวติดลบ แต่ยังพอมองเห็นได้ว่าธนาคารไม่ได้ถึงกับหุบร่มทั้งหมด ลูกหนี้ที่ดียังสามารถได้รับสินเชื่อ แต่ในภาพรวมชะลอลง

หากพิจารณารายภาค สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5% ในไตรมาสนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีหดตัว 5.5% สินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัว 2.2% ขณะที่ยอมรับว่า ตัวเลขสินเชื่อไตรมาสที่ 2 มีความท้าทายสูง โดยถ้าผลการเจรจาเรื่องภาษีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป การส่งออกจะได้รับผลกระทบ

ด้านยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) ไตรมาส 1 ปี 2568 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 548,100 ล้านบาท จากไตรมาส 4 ปี 2567 อยู่ที่ 499,000 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.90% เป็นการเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเริ่มเห็นความกังวลของหนี้เสียของบ้านที่ราคาสูงขึ้น ในระดับบ้านราคา 5 ล้านบาท ขณะที่เอ็นพีแอลของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเช่าซื้อที่เพิ่มขึ้น

สำหรับสินเชื่อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (ขาดส่ง 1 เดือนแต่ไม่ถึง 3 เดือน) ไตรมาสนี้ ทรงตัวอยู่ที่ 6.97% อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามภาวะการเงินที่ยังตึงตัวและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีภาระหนี้สูง รวมถึงแรงกดดันเพิ่มเติมจากผลกระทบของนโยบายการค้าโลก

“ที่ผ่านมา ธปท.ได้ทำการทดสอบความมั่นคง (Stress Test) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ก่อน ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยเน้นทำไปที่ธนาคารที่มีลูกค้าในกลุ่มส่งออกไปสหรัฐฯ และเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ โดยคาดว่าผลจะออกมาในอีกไม่นานนี้”

น.ส.เสาวนีย์ กล่าวต่อถึงโครงการคุณสู้เราช่วยว่า จากลูกหนี้ที่เข้าโครงการได้ 1.9 ล้านราย หรือ 890,000 ล้านบาท ลงทะเบียนมาแล้ว 1.3 ล้านรายหรือ 1.7 ล้านบัญชี เฉลี่ย 1.3 บัญชีต่อคน เข้าร่วมมาตรการได้ 580,000 ราย คิดเป็น 30% ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ มูลหนี้ 430,000 ล้านบาท หรือประมาณ 48% ของมูลหนี้ทั้งหมด

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการคุณสู้เราช่วย ระยะที่ 2 นั้น ขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งหลักๆ จะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2567 เช่นเดิม แต่จะขยายลูกหนี้ที่สามารถจะเข้าโครงการได้ให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น โดยอาจไม่จำเป็นต้องผิดนัดชำระหนี้ถึง 3 เดือน อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีความชัดเจนและประกาศเงื่อนไขได้กลางมิ.ย.หรือก่อนสิ้น มิ.ย. 2568


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ