เศรษฐกิจไทย ไม่นับ “ภาคการท่องเที่ยว” อยู่ในภาวะ “ถดถอย” ไปแล้ว

Economics

Thai Economics

Tag

เศรษฐกิจไทย ไม่นับ “ภาคการท่องเที่ยว” อยู่ในภาวะ “ถดถอย” ไปแล้ว

Date Time: 19 พ.ค. 2568 10:28 น.

Video

สหรัฐฯ เสี่ยงเบี้ยวหนี้ ? ผลประชุม FED จะมีเซอร์ไพรส์ ? | Thairath Money Night Stand EP.4

Summary

  • แม้ GDP ไทยไตรมาสแรกโต 3.1% แต่หากตัด “ท่องเที่ยว” ออก เศรษฐกิจส่วนที่เหลือยังติดลบต่อเนื่อง สะท้อนภาพ “ถดถอยเงียบ” ที่อาจหนักขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

Latest


วันนี้ สภาพัฒน์ฯ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2568 โดยเผยว่า GDP ไทยในไตรมาสแรกของปี ยังขยายตัวได้ 3.1% ต่อเนื่องจาก 3.3% ในไตรมาส 4 ของปี 2567

อย่างไรก็ตาม นับเป็นตัวเลขที่เติบโตต่ำสุดในอาเซียน ภายใต้สถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปียังคงน่ากังวล จากภาวะความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ความผันผวนของพืชผลทางการเกษตร และทิศทางเศรษฐกิจโลก

ส่งผลให้มีการปรับคาดการณ์ GDP ไทยทั้งปี 2568 ให้เติบโตต่ำลงในช่วง 1.3 - 2.3% (ค่ากลาง 1.8%) จากผลกระทบของปริมาณการค้าโลกที่ลดลง และปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย

ทั้งนี้ ท่ามกลางตัวเลขการจดทะเบียนเลิกกิจการและตั้งใหม่ของนิติบุคคลในไทยที่สะท้อนนัยยะ โดยในไตรมาสแรกของปี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานว่า มีการจดทะเบียนเลิกกิจการในไทยทั้งสิ้น 3,107 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 10% ทุนจดทะเบียนสูญ 11,859 ล้านบาท

ยังมีรายงานสอดคล้องจาก KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตในอัตราที่ลดลงเรื่อย ๆ พร้อมชี้ว่า หากไม่นับรวม “ภาคการท่องเที่ยว” เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ “ถดถอย” ไปแล้ว

ใจความระบุว่า “เศรษฐกิจไทย” หลังโควิด-19 ได้รับแรงส่งหลักจากภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอด ตามฐานนักท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับต่ำ

แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ หากไม่นับรวมภาคการท่องเที่ยว จะพบว่า เศรษฐกิจไทยในส่วนที่เหลือเติบโตติดลบมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 และกลับมาเติบโตเป็นบวกเล็กน้อยใกล้ศูนย์ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2567

ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบต่อเนื่อง สะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ของไทยที่ไม่รวมการท่องเที่ยว เช่น ภาคอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจในประเทศ อยู่ในภาวะ “ถดถอย” ไปแล้ว และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไม่ได้ส่งผลต่อเนื่อง (Spillover) ไปสู่เศรษฐกิจภาพรวมได้มากเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 เครื่องยนต์หลักทั้ง 3 ของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร กำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงพร้อมกันไม่ใช่เพียงผลกระทบจากนโยบายภาษีเท่านั้น แต่ยังมี 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

  1. แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวกำลังจะหายไปในปีนี้ โดยข้อมูลที่ผ่านมา สะท้อนว่าแนวโน้มการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมา
  2. ภาคอุตสาหกรรม ที่อยู่ในทิศทางติดลบมาโดยตลอด ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงเพิ่มเติม จากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นหลัก
  3. ภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากข้อมูลการส่งออกภาคเกษตรที่หดตัวลงแรง โดยเฉพาะข้าว หลังอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวได้ในปีนี้ รายได้ที่ชะลอตัวลงส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มชะลอตัวตามไปด้วย

เมื่อเครื่องยนต์ทั้ง 3 ชะลอตัวลง บวกกับผลกระทบจากนโยบายภาษี ส่งผลให้ KKP Research มองว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในระดับต่ำเพียง 1.7% ในปีนี้เท่านั้นดยอยู่ภายใต้สมมติฐานว่า ระดับภาษีที่สหรัฐฯ คิดกับไทยจะค้างอยู่ที่ 10% ตลอดทั้งปี และเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงเล็กน้อยแต่ไม่ถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย ในกรณีนี้ ผลกระทบหลักที่ไทยจะได้รับ คือ การส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอลงอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี และมีโอกาสหดตัว หลังจากที่เร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งแรก ตามการเร่งส่งออกก่อนการขึ้นภาษี ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกทั้งปีเติบโตต่ำกว่า 1%

หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยกลับไปเติบโตแตะระดับ 3% จำเป็นต้องให้ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงปีละราว 7-10 ล้านคน หรือให้ภาคการผลิตกลับมาเติบโตเฉลี่ย 5% เหมือนช่วงปี 2543 ซึ่งค่อนข้างยากในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ทั้งการท่องเที่ยวจีนเริ่มชะลอตัว และภาคอุตสาหกรรมไทยเผชิญแรงกดดันจากสินค้าจีนและสงครามการค้า เป็นต้น

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อุมาภรณ์ พิทักษ์

อุมาภรณ์ พิทักษ์
เศรษฐกิจ การเงิน ลงทุน และ อสังหาริมทรัพย์