นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายจะนำร่าง พ.ร.บ. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ พ.ร.บ. รฟม. ฉบับปรับปรุงซึ่งจะช่วยสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ยังคงติดขัดเนื่องจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังมีข้อท้วงติงเรื่องการจะนำเงินกำไรสะสมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาชดเชยค่าโดยสารครอบคลุมรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ให้เหลือ 20 บาทว่า ไม่สามารถดำเนินการได้โดยตรง จึงต้องการรูปแบบการใช้เงินให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย คาดหารือแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์
“เป้าหมายเดิมกระทรวงจะเอา พ.ร.บ. รฟม. เอาเข้าครม. เมื่อ 13 พ.ค. 2568 เพื่อเสนอเรื่องนี้ให้ทันการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญในวันที่ 28 - 30 พ.ค.”
อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ตามเป้าหมายภายใน 30 ก.ย. 2568 เนื่องจากพร้อมหมดแล้ว เหลือเพียงการหาแนวทางนำเงินกำไรของ รฟม. มาเข้ากองทุนตั๋วร่วม และชดเชยส่วนต่างให้รถไฟฟ้าสายอื่นๆ ซึ่งใช้เงินชดเชย 8,000 ล้านบาทต่อปี ไม่มีการปรับเพิ่มกรอบวงเงิน
ขณะเดียวกัน ระหว่างนี้กรรมาธิการยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม กำกับ ดูแล ชดเชยส่วนต่างค่ารายได้ของผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทั้งหมด โดยขณะนี้ได้พิจารณาผ่านวาระ 1 แล้ว และกระทรวงจะเสนอเพิ่มรายละเอียดของการเปิดรับเงินเข้ากองทุนตั๋วร่วม จากเดิมกำหนดรับได้เพียงเงินบริจาค จะปรับเพิ่มให้มีเงื่อนไขรับเงินเข้ากองทุนได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น
ส่วนกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแนวคิดว่ารถไฟฟ้าที่ให้บริการในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีผู้บริหารจัดการหน่วยงานเดียว (Single Owner) เพื่อกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าไปในทางเดียวกัน ด้วยการโอนสิทธิในการบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับกระทรวงคมนาคมนั้น มองว่าเป็นแนวคิดที่ดี จะได้มีการบริหารจัดการรถไฟฟ้าให้เป็นระบบและมาตรฐานเดียวกัน
ส่วนการที่ กทม. จะขอแก้กฎหมายนำกิจการรถเมล์มาดูแลเอง เพราะปัจจุบันองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดี เนื่องจาก ขสมก. ปัจจุบันให้บริการรถเมล์ในพื้นที่ กทม. เป็นส่วนใหญ่ แต่คงต้องหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม