นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2568 ยังคงเผชิญแรงเสียดทานรอบด้าน ทั้งจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง ภาคส่งออกที่ต้องรับมือกับกำแพงภาษี และการแข่งขันจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ โดยเฉพาะผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ประกาศตั้งกำแพงภาษี 37% ต่อสินค้านำเข้าจากไทย ซึ่งแม้จะเลื่อนพิจารณาออกไป แต่คาดว่าจะยังส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภาคเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าจะทำให้จีดีพีในปีนี้เติบโตเพียง 1–1.4% หรือสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 8.8 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ภาคค้าปลีกไทยที่มีมูลค่ารวมกว่า 4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 16% ของจีดีพี กำลังเผชิญการเติบโตที่ชะลอลง โดยปี 2568 คาดว่าจะเติบโตเพียง 3.4% จากที่เคยขยายตัวถึง 5.9% ในปีก่อนหน้า ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 3.3 ล้านรายต้องเผชิญการแข่งขันจากสินค้านำเข้าราคาถูกและด้อยคุณภาพที่ทะลักเข้ามาผ่านอีคอมเมิร์ซและผู้ค้ารายย่อยข้ามแดน ขณะเดียวกัน ต้นทุนธุรกิจกลับพุ่งสูงจากค่าแรง ค่าขนส่ง พลังงาน และโลจิสติกส์
เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สมาคมฯ เสนอให้รัฐใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว โดยเสนอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต 7% ให้แก่นักท่องเที่ยวทันที ณ จุดขาย เมื่อมียอดซื้อเกิน 3,000 บาทต่อวัน รวมถึงการจัดตั้งแซนด์บ็อกซ์เขตปลอดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น แฟชั่น น้ำหอม เครื่องสำอาง และเครื่องหนัง ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อยกระดับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และสร้างไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการช็อปปิ้งระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเสนอให้จัดเก็บแวต 7% กับสินค้าออนไลน์นำเข้าทุกชิ้นตั้งแต่บาทแรก จากเดิมที่มีข้อยกเว้นสินค้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท พร้อมเรียกร้องให้รัฐตรวจสอบสินค้านำเข้าแบบ 100% ไม่ใช่แค่สุ่มตรวจ เพื่อสกัดสินค้าราคาถูกด้อยคุณภาพที่กระทบผู้ประกอบการในประเทศ
ในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สมาคมฯ เสนอให้มีมาตรการปราบปรามธุรกิจนอมินี ที่สวมสิทธิ์คนไทยในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม และศูนย์เหรียญ พร้อมเร่งปรับปรุงกฎหมายอีคอมเมิร์ซให้ทันสมัย เชื่อมระบบตรวจสอบสินค้ากับหน่วยงานรัฐ เช่น สมอ. และ อย. เพื่อลดช่องว่างการหลบเลี่ยงมาตรฐาน
ในระยะยาว สมาคมฯ เดินหน้านโยบาย “TRA GREAT” เพื่อยกเครื่องค้าปลีก 5 ด้านหลัก ได้แก่ การพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าไลฟ์สไตล์, การสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งทุนและตลาด, ยกระดับทักษะแรงงานค้าปลีกให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ, ส่งเสริมค้าปลีกสีเขียว และสนับสนุนสมาร์ท รีเทลด้วยเทคโนโลยีต่างๆ
สมาคมฯ ยังเรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมายล้าสมัย โดยเฉพาะระบบอนุญาตประกอบธุรกิจให้เหลือเพียง Super License พร้อมมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับเอสเอ็มอี และสนับสนุนโครงการ Made in Thailand รวมถึง Thai SELECT เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก
นายณัฐทิ้งท้ายว่า ผู้ประกอบการไทยต้องไม่เพียงแค่อยู่รอด แต่ต้องยืนหยัด และก้าวนำได้ในระยะยาว โดยเน้นย้ำว่าการตั้งรับ รุกกลับ และปรับตัวอย่างเป็นระบบ จะเป็นคำตอบสำคัญของเศรษฐกิจไทยในวันนี้