ดัชนีชี้วัดระบบนิเวศของสตาร์ตอัพไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูก “เห่อ–แห่–แหน” ผ่านแรงสนับสนุนคึกคัก จากโครงการบ่มเพาะ ระบบพี่เลี้ยง และเงินทุนจำนวนมหาศาล กำลังสะท้อนให้เห็นภาพแห่งความซบเซาราวกับฤดูที่หนาวเหน็บ เมื่อในปีล่าสุด ประเทศไทยต้องสูญเสียอันดับในดัชนีระบบนิเวศสตาร์ตอัพโลก 2024 (Global Startup Ecosystem Index 2024–StartupBlink) โดยหล่นจากอันดับ 52 ในปี 2566 มาอยู่ในอันดับ 54 ในปี 2567 จากในปี 2563–2564 เคยอยู่ในอันดับที่ 50 และหล่นลงมาอยู่อันดับที่ 53 ในปี 2565 สวนทางกับการเติบโตของระบบนิเวศสตาร์ตอัพในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้า เปิดเผยว่า ภายใต้บทบาทในการสนับสนุนสตาร์ตอัพไทยในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ราว 1 ปีย้อนหลัง ดีป้าไม่เห็นไอเดียหรือนวัตกรรมใหม่อีกแล้ว เหมือนสตาร์ตอัพไทยหมดมุก ไม่มีไอเดียใหม่หลงเหลืออยู่
“จากปัญหาที่เห็นทำให้ในปี 2568 นี้ เรากลับไปให้การสนับสนุนสตาร์ตอัพในระดับ Idea Stage หรือระยะเริ่มต้นอีกครั้ง กระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ ใครคิดอะไรที่น่าจะไปต่อเชิงพาณิชย์ได้ เราจะให้การสนับสนุนทันที 200,000 บาท โดยตั้งเป้าไว้ที่ 200 ไอเดีย”
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเชื่อว่าดีป้าเป็นหน่วยงานรัฐ ที่สนับสนุนสตาร์ตอัพมากที่สุด และยังพร้อมที่จะลงทุนต่อ ปัญหาที่เห็นมากที่สุดคือการทำให้ไอเดียสร้างรายได้ เพราะธุรกิจไม่ใช่แค่การสร้างบริษัท แต่ต้องหาตลาดและลูกค้าให้เจอด้วย
“ในบางกรณีเรายังได้เห็นสตาร์ตอัพที่ลงเอยด้วยการเป็นเอสเอ็มอี เพราะไม่สามารถใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนการเติบโตได้สำเร็จ เคยมีเคสตัวอย่างเป็นสตาร์ตอัพที่ริเริ่มจากไอเดียใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการพื้นที่ให้รถขายอาหาร (ฟู้ดทรัค) แต่ในที่สุดก็ต้องพับเก็บไอเดียและหันไปเป็นผู้ประกอบการขายอาหารบนรถฟู้ดทรัคแทน”
ด้าน ดร.วาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (สตาร์ตอัพ) เปิดเผยว่า หลังผ่านจุดรุ่งเรือง ปัจจุบันนักลงทุนใช้เงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น มองหาการลงทุนในสตาร์ตอัพที่มีโอกาสเติบโตทั้งด้านรายได้และกำไร ได้แก่ สตาร์ตอัพด้าน AI, Fintech, โลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซ กลายเป็นทางตันสำหรับสตาร์ตอัพด้านอื่น รวมทั้งในกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นและยังไม่มีโมเดลสร้างรายได้ที่ชัดเจนพอ “สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับสตาร์ตอัพไทยเท่านั้น เพราะเงินลงทุนในสตาร์ตอัพลดลงทั่วโลก”
“แต่สตาร์ตอัพไทยต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากกว่า ตั้งแต่การเข้าถึงแหล่งทุน, การขาดที่ปรึกษาเชิงลึก, เครือข่ายระดับนานาชาติที่จำกัด และกลไกภาครัฐที่ยังไม่ยืดหยุ่นพอ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจดั้งเดิมยังไม่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้สตาร์ตอัพไทยขาดโอกาสในการเติบโตและทดลองจริงในประเทศ การพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีโอกาส หากแต่ต้องคิดพลิกแพลงและแตกต่าง ได้แก่ การพัฒนาโปรแกรมรูปแบบใหม่ เช่น Venture Building ที่เชื่อมโยงผู้มีไอเดียธุรกิจกับผู้มีทักษะเทคโนโลยี, การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน โดยประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับสตาร์ตอัพที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรกว่า 70 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่ใหญ่เพียงพอ, การเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอินโดจีน มีโอกาสเชื่อมโยงสู่ตลาดขนาดใหญ่ขึ้น
ตลอดจนการมีโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ 5G และการทยอยเข้ามาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์จากเทคคัมปะนีระดับโลก รวมทั้งการเป็นประเทศน่าอยู่และเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของคนทำงานกลุ่ม Digital Nomad ซึ่งเร่ร่อนทำงานได้ในทุกที่ทั่วโลก ตราบเท่าที่มีอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอที ดิจิทัล
หากทุกภาคส่วนทำงานส่งเสริมกันอย่างเป็นระบบ ธุรกิจสตาร์ตอัพจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่การใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน สร้างความมั่นคงทางเทคโนโลยีให้กับประเทศในระยะยาว และอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลได้
และไม่ว่าอย่างไร ประเทศไทยก็ยังมีสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จระดับ “ยูนิคอร์น” หรือมีมูลค่าบริษัทเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว 3 บริษัท ได้แก่ แฟลชเอ็กซ์เพรส (Flash Express), Ascend Money และไลน์แมนวงใน (Lineman Wongnai) ช่วยเป็นแบบอย่างให้สตาร์ตอัพรุ่นน้องมองขึ้นไปและเดินตาม.
ศุภิกา ยิ้มละมัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม