ทำได้แค่นั่งรอฟังผลเจรจา ผู้ส่งออกข้าวงง! ไม่มีแผนรับมือภาษีทรัมป์

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทำได้แค่นั่งรอฟังผลเจรจา ผู้ส่งออกข้าวงง! ไม่มีแผนรับมือภาษีทรัมป์

Date Time: 21 เม.ย. 2568 08:47 น.

Summary

  • ผู้ส่งออกข้าวไทย งง!! ไม่มีแผนรับมือภาษีทรัมป์ และไม่รู้จะหาตลาดไหนทดแทน ไม่รู้จะปรับตัวรับมืออย่างไร เหตุแต่ละประเทศซื้อข้าวน้อยลง ทำได้แค่รอฟังผลเจรจาไทย-สหรัฐฯ และส่งออก หากไทยส่งออกข้าวได้น้อยลง กระทบเป็นลูกโซ่แน่

Latest

ทรู-เอไอเอสทางโล่ง! ควงแขนประมูลคลื่น

ผู้ส่งออกข้าวไทย งง!! ไม่มีแผนรับมือภาษีทรัมป์ และไม่รู้จะหาตลาดไหนทดแทน ไม่รู้จะปรับตัวรับมืออย่างไร เหตุแต่ละประเทศซื้อข้าวน้อยลง ทำได้แค่รอฟังผลเจรจาไทย-สหรัฐฯ และส่งออก หากไทยส่งออกข้าวได้น้อยลง กระทบเป็นลูกโซ่แน่

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยภายหลังสหรัฐฯประกาศมาตรการภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ว่า จนถึงขณะนี้ ผู้ส่งออกข้าวยังงง และไม่รู้ว่าจะปรับตัวรับมือกับมาตรการนี้อย่างไร เพราะสินค้าข้าวจากไทยจะถูกเก็บภาษีในอัตราสูง ซึ่งในการประกาศอัตราภาษีครั้งแรก ไทยถูกเก็บสูงถึง 36% จากปกติ สินค้าข้าวไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้า

โดยตลาดสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิไทยอันดับ 1 ทำให้ขณะนี้การซื้อขายหยุดนิ่ง เพราะราคาพุ่งกระโดดมาก อย่างข้าวหอมมะลิ จากที่เคยขาย 950-980 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เมื่อคิดภาษี 36% ก็ขึ้นทันทีไปเป็น 1,300 เหรียญแต่ต่อมาเมื่อสหรัฐฯชะลอขึ้นภาษีไปอีก 90 วัน เหลือเก็บ 10% ไปก่อน ก็เริ่มมีลูกค้าสหรัฐฯติดต่อสอบถามเข้ามา แม้จะโดนภาษี 10% แต่ก็ยังดีกว่า เพราะไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร ไทยจะถูกเก็บที่อัตรา เท่าไร เดาใจประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยากมาก

สำหรับสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ มากของไทย แต่ละปีไทยส่งออกเฉลี่ย 850,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นข้าวหอมมะลิเกรดพรีเมียม หรือเกรดดีที่สุดถึง 650,000 ตัน และยังมีข้าวหอมปทุมอีก 120,000 ตัน ถ้าขึ้นภาษีเกิน 20-30% ตลาดจะกระทบอย่างหนักแน่นอน และผู้ส่งออกยังไม่รู้ว่าจะไปหาตลาดทดแทนได้ทันทีจากที่ไหน เพราะตลาดอันดับรองๆอย่างยุโรปก็นำเข้าเพียงปีละ 100,000 ตัน ขณะที่จีนและฮ่องกงก็นำเข้ารวมกันแค่ 100,000 ตัน เพราะหันไปซื้อข้าวหอมเวียดนามที่ราคาถูกกว่าถึงครึ่งแทนแล้ว

“สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ รอฟังผลเจรจาระหว่างไทยและสหรัฐฯว่าจะออกมาอย่างไร ภาษีจะลงได้แค่ไหน ซึ่งเชื่อว่าการเจรจาไม่ง่ายแน่และตอนนี้ก็ทำได้คือเร่งขายออกไปให้มากสุดก่อนถึงเส้นตาย 90 วัน เพราะ การที่สินค้าเกษตรจะไปหาตลาดใหม่ทันทีไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่มีราคาสูง และในอนาคตหากไทยส่งออกข้าวได้น้อยลง ก็จะกระทบราคาข้าวในประเทศ และเกษตรกรก็จะได้รับผลกระทบตามมา”

นายชูเกียรติกล่าวต่อถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยในปีนี้ ยอมรับว่า ไม่ดีเหมือนปีก่อน ไม่ใช่แค่เรื่องภาษีทรัมป์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอินเดียผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก กลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง ขณะที่ตลาดใหญ่ อย่างอินโดนีเซียก็นำเข้าข้าวน้อยลง เพราะปีก่อนซื้อไปเก็บสต๊อกจำนวนมาก ทำให้ช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปีนี้ ไทยส่งออกได้ 2 ล้านตัน ลดลงถึง 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกข้าวขาวลดลงมากถึง 53% แม้ข้าวหอมมะลิจะขายได้เพิ่ม 11% และข้าวนึ่งขายได้เกิน 10% ก็ตาม

ขณะที่ราคาข้าวไทยในช่วงต้นเดือน เม.ย. ในกลุ่มของข้าวขาวและข้าวนึ่งยังคงอ่อนตัวลดลงตามภาวะตลาด เพราะมีผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ประเทศคู่แข่งต่างปรับลดราคาลงเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวในตลาดที่มีไม่มากนัก ทั้งนี้ ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 9 เม.ย. อยู่ที่ 399 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 399-403, 376-380 และ 391-395 เหรียญต่อตันตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทย 419 เหรียญต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดียและปากีสถานอยู่ที่ 378-382 และ 412-416 เหรียญต่อตัน.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ