"พาณิชย์" จัดทัพผู้ส่งออกเดินหน้าบุกตลาดยุโรป-จีน หวัง "มวยไทย" พิชิตใจคนทั่วโลก

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"พาณิชย์" จัดทัพผู้ส่งออกเดินหน้าบุกตลาดยุโรป-จีน หวัง "มวยไทย" พิชิตใจคนทั่วโลก

Date Time: 16 เม.ย. 2568 05:30 น.

Summary

  • DITP โปรโมตมวยไทย รวมถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศเต็มสูบ เตรียมนำทัพผู้ประกอบการลุยเยอรมนี สเปน เดนมาร์ก จีน ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง พร้อมเปิด 4 กลยุทธ์ดันมวยไทยสู้ศึกศิลปะต่อสู้อื่น หวังช่วงชิงตลาด มั่นใจสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกมาก

Latest

เปิดขุมทรัพย์ AOT ปล่อยเช่าที่ดิน 2,512 ไร่ ทำเลทอง 46 แปลง รอบ 6 สนามบิน ปั้นฮับการบิน - อสังหาฯ

น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการโปรโมต “มวยไทย” รวมถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศปี 68 ว่า มวยไทยเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ไทย ที่ทำให้คนต่างชาติรู้จักประเทศไทย และสินค้าไทยมากขึ้น ปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก หลายประเทศมีโรงยิมสอนมวยไทยเพิ่มขึ้น และนำมวยไทยไปบรรจุในหลักสูตรกีฬาและการฝึกซ้อมของตำรวจ ทหาร และองค์กรด้านความปลอดภัย ทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องมากขึ้น อีกทั้งยังมีการจัดแข่งขันมวยไทยระดับโลก เช่น ONE Championship และ Lumpinee Stadium International ทำให้มวยไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น

โปรโมตมวยไทยในยุโรป-จีน

น.ส.สุนันทากล่าวว่า กรมมองเห็นลู่ทางและโอกาสในการขยายตลาด จึงจะนำผู้ประกอบการไทยไปเปิดตลาดมวยไทย รวมถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น เสื้อ กางเกง นวม น้ำมันมวย กระจับ ล่อเป้า ค่ายมวย โรงเรียนสอนมวยไทย ฯลฯ ในต่างประเทศ “ปีนี้จะไปยุโรป 3 ประเทศ คือ เยอรมนี สเปน และเดนมาร์ก รวมถึงจีน ทั้งเมืองหลัก และเมืองรอง เช่น หนานหนิง ชิงต่าว เฉิงตู เซี่ยเหมิน กวางโจว ในรูปแบบของการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าและบริการ เจรจาธุรกิจ โชว์หรือแข่งขันชกมวยไทย ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้แต่ละเมืองไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท”

สำหรับมูลค่าเป้าหมายดังกล่าว เพิ่มขึ้นจากปี 67 ที่กรมได้นำผู้ประกอบการไทยเดินทางไปเปิดตลาดในละตินอเมริกา 3 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล และชิลี โดยได้พบปะกับตัวแทนภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเจรจาขยายตลาด จัดกิจกรรมเจรจาการค้า การสาธิตมวยไทย โดย “รถถัง จิตรเมืองนนท์” จัดงาน Muay Thai Festival ครั้งแรกในอาร์เจนตินา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม

ส่วนตลาดอื่นๆยังคงเดินหน้าส่งเสริมและผลักดันการส่งออกด้วยเช่นกัน โดยมีตลาดเป้าหมาย เช่น สหรัฐฯ ที่มีศูนย์และโรงเรียนสอนมวยไทย 1,724 แห่งทั่วสหรัฐฯ, ตลาดยุโรป ที่นิยมมวยไทยมานานแล้ว โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สเปน, ตลาดเอเชีย ทั้งอาเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ขณะที่จีน มีโรงเรียนมวยไทยกว่า 500 แห่ง และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งอุปกรณ์มวยไทยมีมูลค่าตลาดกว่า 300 ล้านหยวนปี 67 คาดปีนี้จะโตถึง 15% และละตินอเมริกา โดยเฉพาะบราซิล ที่นิยมสูงสุด รวมถึงเม็กซิโก อาร์เจนตินา โคลอมเบีย ชิลี เปรู ฯลฯ

4 กลยุทธ์หนุนมวยไทยสู้ศึกศิลปะต่อสู้อื่น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามวยไทยมีการแข่งขันจากศิลปะการ ต่อสู้อื่นๆ เช่น คิกบ็อกซิ่ง มวยสากล ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือคาราเต้ และเทควันโด ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระดับนานา ชาติ และบรรจุในกีฬาโอลิมปิก แต่ น.ส.สุนันทา มองว่า มวยไทยยังสามารถแข่งขันกับศิลปะการต่อสู้เหล่านี้ได้ ผ่านกลยุทธ์สำคัญ คือ 1.สร้างระบบการแข่งขันที่เป็นสากล โดยผลักดันมวยไทยเข้าสู่โอลิมปิก หรือจัดลีก (League) การแข่งขันระดับโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มการยอมรับและดึงดูดผู้ชม

ส่วนกลยุทธ์ที่ 2 ส่งเสริมสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น อุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้า โปรแกรมฝึกสอน จัดทัวร์มวยไทยในไทย สร้างแฟรนไชส์ยิม หรือโรงเรียนมวยไทยสู่ต่างประเทศ 3.ใช้อินฟลูเอนเซอร์และนักกีฬาระดับโลก โปรโมตมวยไทยผ่านโซเชียลมีเดีย จัด Muay Thai Festival และเวิร์กช็อปในประเทศเป้าหมาย 4.ขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล พัฒนาคอร์สเรียนผ่านแอปพลิเคชันหรือทางออนไลน์ โปรโมตมวยไทยผ่านอี-สปอร์ต เช่น เกม หรือแอนิเมชัน

น.ส.สุนันทากล่าวว่า มวยไทยไม่ได้เป็นเพียงกีฬา หรือศิลปะการต่อสู้ แต่ยังเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถขยายสู่ธุรกิจอื่นๆได้ และสามารถส่งออกได้ อย่างสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนวม ชุดซ้อม ผ้าพันมือ กระสอบทราย ก็ขยายตลาดสู่ประเทศที่นิยมศิลปะการต่อสู้และฟิตเนส รวมถึงกางเกงมวยไทย เสื้อผ้าแฟชั่นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากมวยไทย หรืออาหารและเครื่องดื่ม อย่างอาหารเสริมสำหรับนักกีฬา เครื่องดื่มสมุน ไพร เครื่องดื่มชูกำลัง หรือแม้กระทั่งคอร์สเรียนออนไลน์และโปรแกรมฝึกสอน ก็สามารถขายได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่นเดียวกับแอปพลิเคชันฟิตเนส หรือเกมที่มีมวยไทยเป็นจุดเด่น

“กลุ่มบริการที่เกี่ยวข้องก็ส่งออกได้อีก ทั้งยิมและแฟรนไชส์ยิมมวยไทย ครูฝึกและนักมวยไทย หรือจัดการแข่งขันมวยไทยนานาชาติ ก็สร้างรายได้จำนวนมาก ซึ่งปี 67 ไทยส่งออกสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง 173.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ลดลงจากปี 66 ที่มีมูลค่า 177 ล้านเหรียญฯ แต่ปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะกรมจะบุกตลาดอย่างเข้มข้น และมีกิจกรรมมากมายที่จะส่งเสริม ผลักดันการส่งออก”

เร่งแก้อุปสรรคหวังดันสู่เป้าหมาย

น.ส.สุนันทากล่าวอีกว่า นอกจากมวยไทยจะมีคู่แข่งที่เป็นศิลปะการต่อสู้ของชาติอื่นๆแล้ว ผู้ประกอบการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง ยังคงเผชิญกับอุปสรรค เช่น การแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่า การโปรโมตสินค้ามวยไทยยังอยู่ในวงจำกัด แม้สินค้าเหล่านี้มีศักยภาพการเติบโต หรือค่าย ยิม หรือโรงเรียนสอนมวยไทย และหลักสูตรฝึกอบรมมวยไทย ที่แม้มีแนวโน้มเติบโต ก็มีปัญหาเช่นกัน จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นของค่ายและยิมมวยไทยที่เปิดใหม่จำนวนมาก

ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้าต้องพัฒนาและสร้างความแตกต่างของสินค้า เช่น ใช้วัสดุทนทาน น้ำหนักเบา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาอัตลักษณ์สินค้า เช่น ออกแบบลวดลายไทย ใช้วัสดุจากธรรมชาติ และพัฒนาสินค้าเชิงสุขภาพ ขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังสายสุขภาพ เช่น อุปกรณ์ออกกำลังกายที่ได้แรงบันดาลใจจากมวยไทย ขยายตลาดผ่านอี-คอมเมิร์ซดัง อย่าง Amazon, eBay, Shopee Global และ Alibaba ใช้โซเชียลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์ช่วยโปรโมต เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุปกรณ์กีฬา

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการธุรกิจบริการต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับยิมต่างประเทศ ผลักดันให้มวยไทยเป็นหลักสูตรระดับโลก เช่น หลักสูตรกีฬาในมหาวิทยาลัยและสถาบันศิลปะการต่อสู้นานาชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงมวยไทย ทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, YouTube, Instagram และ TikTok พัฒนาแพลตฟอร์มเรียนมวยไทย เพื่อดึงดูดนักเรียนต่างชาติ ฯลฯ

“แผนดำเนินการทั้งหมดนี้ รวมกับการแก้ปัญหาที่เป็นจุดอ่อน มั่นใจว่ามวยไทย รวมถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่อง จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกมาก และจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยสร้างการรับรู้ และจดจำประเทศไทย รวมทั้งสินค้าและบริการของไทยได้เป็นอย่างดี” น.ส.สุนันทากล่าวทิ้งท้าย.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ