กังวลภาษีทรัมป์ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นดิ่ง “ธนวรรธน์” ชี้หากสงครามการค้า “จีน-สหรัฐฯ” รุนแรง เศรษฐกิจไทยทรุดแน่ ด้าน รมว.พาณิชย์ “พิชัย” จับมืออาเซียนแถลงจุดยืน “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน”
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน มี.ค.68 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ 56.7 ลดลงจาก 57.8 ในเดือน ก.พ.68 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เพราะความกังวลสงครามการค้าจากนโยบายของสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ไทย และทั่วโลกลดลง แม้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า อีกทั้งค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง ราคาเกษตรทรงตัวต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ 48.9 ลดจาก 52.3 เพราะความกังวลนโยบายสหรัฐฯ และผลกระทบของแผ่นดินไหว อาจทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้า ค่าครองชีพอยู่ในระดับสูง ฉุดกำลังซื้อ และกระทบต่อยอดขาย
สำหรับกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชะลอเก็บภาษีตอบโต้คู่ค้า (Recipocal Tariffs) ออกไปอีก 90 วัน ซึ่งไทยถูกเก็บที่ 36% จากเดิมมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.68 และให้เก็บภาษีเท่ากันทุกประเทศ (Universal Tariffs) ที่ 10% นั้น ทำให้โลกผ่อนคลายมากขึ้น ตลาดหุ้นกลับมาดีขึ้น และทำให้คู่ค้าทุกประเทศมีแต้มต่อเหมือนกัน แต่อยู่ที่การเจรจาต่อรองของแต่ละประเทศว่า จะทำให้สหรัฐฯลดภาษีตอบโต้เหลือเท่าไร และไทยจะเจรจาให้ลดเหลือเท่าไร ถ้าไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง ก็อาจเสียศักยภาพการแข่งขัน และกระทบต่อการส่งออกได้
ส่วนแนวทางการเจรจาของไทย ทำได้ 2 ทาง คือ เจรจา 2 ประเทศระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และจับมือกับอาเซียนเจรจากับสหรัฐฯ แต่ไม่ว่าจะแนวทางใด เมื่อเจรจาแล้ว รัฐบาลต้องเปิดเผยให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบด้วย เพื่อให้ทราบว่า จะได้รับผลกระทบอย่างไร และเตรียมตัวรับมืออย่างไร รวมทั้งต้องเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบด้วย เหมือนญี่ปุ่น ที่ทราบว่าจะมีกองทุนหรือเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์
“ถ้าในช่วง 3 เดือนนี้ ไทยเจรจาแล้ว เหลือภาษีตอบโต้ 10% การส่งออกไทยจะลดลง 100,000-150,000 ล้านบาท ตามที่ศูนย์เคยประเมินไว้ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ลดลงไม่มากนัก 0.7-0.9% แต่ถ้าไทยยังถูกเก็บภาษีสูงกว่านี้ หรือสูงกว่าคู่แข่ง การส่งออกจะได้รับผลกระทบมาก คาดว่า ปีนี้อาจโตได้ 2-2.5% จากเป้าหมาย 3% และทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้แค่ 2.5% ไม่ได้ตามเป้าหมาย 3% เช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม หากจีนและสหรัฐฯใช้ภาษีตอบโต้กันรุนแรงมากขึ้น ล่าสุด สหรัฐฯเก็บจากจีนถึง 125% จากเดิมที่คาดจะถูกเก็บราวๆ 65% และจีนก็เก็บสหรัฐฯ 84% จะยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันเกินครึ่งหนึ่งของจีดีพีโลก และจะมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอ กระทบต่อเศรษฐกิจไทย จึงมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจโตได้เพียง 2% หรือต่ำกว่า 2% เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลงยังได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยลดลง รายได้จากการท่องเที่ยวก็จะหายไป 100,000-120,000 ล้านบาท
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดพิเศษผ่านระบบทางไกล เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 10 เม.ย.68 ที่กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ และติมอร์-เลสเต โดยมีนายเตงกู ซาฟรุล เตงกู อับดุล อาซิส รมว.การลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม มาเลเซีย เป็นประธาน ว่าการประชุมครั้งนี้ เพื่อกำหนดแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียนในการรับมือกับนโยบายใหม่ของสหรัฐฯ ที่เริ่มใช้มาตรการจัดเก็บภาษีแบบตอบโต้กับหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาค ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานโลก และการดำเนินธุรกิจของเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและเกษตรกร
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความกังวลต่อนโยบายการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ เพราะจะกระทบต่อการค้าระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ดังนั้น จึงได้ออกแถลงการณ์อาเซียน เพื่อยันจุดยืนร่วมในฐานะ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” กับสหรัฐฯ และเสนอการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ภายใต้กรอบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ (ASEAN-US Strategic Trade and Investment Partnership หรือ STIP) เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม