ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้รายงานค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทย เดือน มี.ค.2568 พบว่า มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 21,027 บาท เพิ่มขึ้น 2,993 บาท เมื่อเทียบเดือน มี.ค.2567 เพราะราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นมาก ทำให้ สัดส่วนค่าใช้จ่ายสินค้าในหมวดนี้เพิ่มเป็น 60.87% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด จากเดือน มี.ค.ปี 2567 ที่มีสัดส่วน 58.36% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีสัดส่วนที่ 39.13%
สำหรับค่าใช้จ่ายในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ที่สูงขึ้นมากนั้น เป็นค่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ หุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สูงที่สุดถึง 5,183 บาท เพิ่มขึ้นถึง 1,180 บาท รองลงมาคือ ค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ 4,731 บาท เพิ่มขึ้น 526 บาท, ค่าแพทย์ ยา และค่าบริการส่วนบุคคล 1,335 บาท เพิ่ม 351 บาท
นอกจากนี้ยังมีค่าหนังสือ ค่าสันทนาการ ค่าเล่าเรียน และการกุศลต่างๆ 847 บาท, ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า 442 บาท, ค่าบุหรี่ ค่าเหล้า ค่าเบียร์ 216 บาท
ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่มีสัดส่วน 39.13% นั้น ค่าใช้จ่ายสูงสุด ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เคเอฟซี พิซซ่า 3,470 บาท รองลงมาเป็น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 1,520 บาท, ผักและผลไม้ 1,015 บาท, ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์ 727 บาท, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 699 บาท, ไข่ และผลิตภัณฑ์นม 362 บาท, เครื่องปรุงอาหาร 257 บาท และผลิตภัณฑ์น้ำตาล 179 บาทต่อเดือน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ในการสำรวจเงินเฟ้อเดือน มี.ค.2568 พบว่า สินค้าที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อ 464 รายการนั้น มีสินค้าราคาแพงขึ้น 155 รายการ เช่น เนื้อหมู ปลาทู มะนาว ผักคะน้า ผักชี มะเขือ ส้มเขียวหวาน น้ำมันพืช กาแฟ ค่าเช่าบ้าน ตั๋วเครื่องบิน
สินค้าราคาคงที่ 176 รายการ เช่น ยาแก้ไข้ ค่าถอนฟัน ค่าน้ำประปา คนรับใช้ กระโปรงเด็ก ค่าทำใบขับขี่ เตียง ค่าภาษี รถยนต์ ค่าตรวจสุขภาพ และสินค้าราคาลดลง 133 รายการ เช่น ไก่ย่าง ไข่ไก่ แตงกวา พริกสด ชะอม อาหารดีลิเวอรี โฟมล้างหน้า ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เพิ่มขึ้น 1-3% เพราะอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่ทำให้ไทยอาจนำเข้าสินค้าหลายรายการจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าอยู่แล้ว เพราะผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งอาจมีส่วนทำให้ราคาลดลงได้ รวมถึงรัฐยังมีมาตรการลดค่าครองชีพต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีผลให้เงินเฟ้อลดลงจากเป้าหมายเล็กน้อย.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่