เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญแรงสั่นสะเทือนครั้งใหม่ หลังประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับหลายประเทศทั่วโลก
“This is Liberation Day.” คำประกาศของผู้นำสหรัฐ ที่ดังกึกก้องแฝงความหมายในเชิงสัญลักษณ์ การทวงคืนอำนาจและความชอบธรรมทางการค้า อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ การค้าโลกที่เคยเสรี สะดุดแรงอีกครั้ง และดูเหมือน ประเทศที่ตกเป็น “เป้า” ไม่ใช่แค่จีน แต่รวมถึงพันธมิตรทางเศรษฐกิจอย่างไทย ที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสูงถึง 36-37% จากอัตราเดิมเพียง 11-15% เท่านั้น
ล่าสุด จากการวิเคราะห์ของ “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรติไทย ในหัวข้อ : “แผ่นดินไหว บวกกำแพงภาษี 36% ประเทศไทยจะสะเทือนแค่ไหน และไปต่ออย่างไรดี”
พบประเด็นน่าห่วงใยหลายประการ โดยเฉพาะ การที่ ระบุว่า หากมาตรการภาษีชุดนี้มีผลบังคับใช้จริง และยืนระยะอยู่นาน ตลอด 1 ปี อาจทำให้จีดีพีไทย หดตัวถึง 1.1% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเอเชีย ที่ประเมินว่าอยู่ราว 0.6% เท่านั้น
เท่ากับว่าไทยคือกลุ่มเปราะบางที่สุดต่อ Trade Shock ครั้งนี้ สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหลายภาคส่วนก่อนหน้า ก่อนสหรัฐประกาศภาษีจริง ว่า เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ สูงถึง 18% หากภาษีนำเข้าขยับขึ้นแบบก้าวกระโดด อุตสาหกรรมส่งออกบางกลุ่มอาจอยู่ไม่รอด และ ยากในการหาตลาดส่งออกขนาดใหญ่อื่นๆมาทดแทน
“ประเทศไทยจะอยู่เฉยไม่ได้ เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องการค้า แต่มันคือ ‘เกมอำนาจ’ ที่หากไม่เจรจาให้ดี อาจกลายเป็นผู้สูญเสียในสมรภูมิที่ไม่ได้เริ่มต้นเอง”
ดร.พิพัฒน์ วิเคราะห์ สูตรการคำนวณภาษีใหม่ของสหรัฐ ก่อนไทยโดนหางเลข 36-37%
สูตรภาษีนำเข้า = ดุลการค้า หาร การนำเข้า แล้วลบออก 50%
พร้อมชี้ว่า การขึ้นภาษี โดยสูตรคำนวณดังกล่าว นับเป็นเรื่องน่าแปลกใจไม่น้อย และไม่มีใครคาดคิด อย่างไรก็ตาม ในลักษณะนี้ อาจทำให้อัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทะยานแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 100 ปี นับจากยุค “Smoot-Hawley Tariff Act” ในปี 1930 ซึ่งเคยเป็นชนวนให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่มาแล้ว
แต่ไม่อาจต้านทานความต้องการของสหรัฐฯได้ หลังตัดพ้อว่าที่ผ่านมา สหรัฐฯ โดนชาวโลกเอาเปรียบมาตลอด โดยประเมินว่า การประกาศภาษีกำแพงชุดใหม่ของสหรัฐฯ มาจากความต้องการต่างๆเหล่านี้
• ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ
• ลดภาษีนำเข้าตอบแทน
• ลดมาตรการกีดกันการค้า
• อย่างแทรกแซงค่าเงิน
• ซื้อสินค้าสหรัฐฯ
มีการคาดการณ์ว่า การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าหลายประเทศทั่วโลกครั้งนี้ จะทำให้สหรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 1-4 แสนล้านดอลลลาร์สหรัฐ เรื่อยไปจนถึง ช่วยปรับสมดุลการค้า และเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการทำสงครามการค้ากับมหาอำนาจเทียบเคียงอย่างจีน แถมยังใช้ต่อรองแลกผลประโยชน์กับนานาประเทศได้ตามต้องการ แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงและผลกระทบที่แม้แต่ตัวสหรัฐฯเอง ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
"การขึ้นภาษีสหรัฐ ครั้งนี้ คงไม่ต่างจาก เคาะกะลา ให้คนกลัว เพื่อเรียกเงื่อนไขที่สหรัฐอยากได้"
“นอกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง และการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ การขึ้นภาษีของสหรัฐครั้งนี้ จึงถูกมองว่าเป็น เครื่องต่อรอง หรือ การขู่ให้กลัว เพื่อบีบให้ประเทศคู่ค้า ยอมแลกในสิ่งที่สหรัฐต้องการ หรือ ให้ผู้ผลิตในประเทศ ย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐ “
ดร.พิพัฒน์ เสนอทางเลือกว่า หนึ่งในแนวทางที่เป็นไปได้ สำหรับทางออกของประเทศไทย คือ การเจรจาแบบร่วมกลุ่มกับอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง รวมถึงพิจารณาการปรับเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐ เช่น พลังงาน แก๊ส LNG หรือสินค้าเทคโนโลยี
หากไม่สามารถเจรจาได้ทัน เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะไม่เพียงแต่จะเสียตลาดส่งออกสำคัญ แต่ยังถูกกดดันจากต้นทุนสินค้านำเข้า และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง
แทนการสู้ (retaliate) เพราะไทยพึ่งพาสหรัฐมากกว่า สหรัฐพึ่งพาไทย หรือ ทน (tolerate, stimulate)รับแรงกระแทก และ อัดมาตรการช่วยเหลือในประเทศก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี
“หากไทยใช้ทางเลือก หมอบ เร่งเข้าเจรจา ตามข้อเรียกร้อง ซึ่งประเมินว่า สหรัฐฯ มีความต้องการให้ไทย ลดภาษีศุลกากร ในกลุ่มที่รู้สึกว่าเรากีดกัน เช่น เกษตรกรรม ,บริการ ,บริการทางการเงิน และปลดกฎหมาย ลดอุปสรรคด้านการลงทุน เรื่อยไปจนถึงเราอาจต้องซื้อสินค้าอเมริกามากขึ้น เช่น น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ที่เดิมทีเรานำเข้าจากตะวันออกกลางมากกว่า รวมถึง เครื่องบิน เครื่องจักร อาวุธ ไปจนกระทั่ง ความต้องการแฝง ว่าสหรัฐ อาจมีข้อเสนอทางการเมือง และ ภูมิรัฐศาสตร์บางอย่างที่ไทยต้องแลก อาจทำให้ความเข้มข้นของภาษีที่ถูกเรียกเก็บลดลง แต่ก็จะมีผลกระทบที่ต้องติดตามเช่นกัน ”
ทั้งนี้ ดร.พิพัฒน์ ชี้ว่า รัฐบาลไทยมีเวลาไม่มาก ในการหาช่องทางเข้าเจรจากับสหรัฐฯ ก่อนภาษีถูกประกาศใช้จริง หากไม่สามารถเจรจาได้ทัน เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะไม่เพียงแต่จะเสียตลาดส่งออกสำคัญ แต่ยังถูกกดดันจากต้นทุนสินค้านำเข้า และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง
เวลานี้เรียกว่าประเทศไทย เจอแรงสั่นสะเทือน 2 ครั้งซ้อนในเวลาเดียวกัน หลังเพิ่งเกิด “แผ่นดินไหว” ทางกายภาพ แต่ประเมินว่า ครั้งแรก ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเพียงในวงจำกัด เช่น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง บางธุรกิจในภาคอสังหาฯ และประกันภัยได้รับผลกระทบ แต่เป็นผลระยะสั้น และมีบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์ เช่น ค้าปลีก วัสดุก่อสร้าง และพลังงาน
แต่ในทางตรงกันข้าม ผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ ถือเป็นแรงสั่นสะเทือนระดับโครงสร้างเศรษฐกิจที่น่ากังวลมากที่สุด และยังไม่มีทางรู้ว่าจะจบลงอย่างไร ภายใต้คาดการณ์ว่า จีดีพี ปี 2563 โตต่ำ 2.3% หากผลกระทบจากภาษีสหรัฐ ฉุดให้หายไปกว่า 1% บางไตรมาสเศรษฐกิจอาจอยู่ในภาวะถดถอยได้
ทั้งนี้ ดร.พิพัฒน์ ยังเตือนทิ้งท้ายว่า อาจเป็นอีกสัญญาณที่รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะการแจกเงิน เพราะยังไม่เห็นผลชัดเจนต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากนำทรัพยากรไปใช้ในการรองรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก อาจเป็นประโยชน์มากกว่า
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ และอีก 1 ครั้งในปีหน้า ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 1.25% หรือต่ำกว่านั้น เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney