จากเหตุการณ์การถล่มของอาคารใหม่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งสร้างความสะเทือนใจและวิตกกังวลในวงกว้างเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคารและคุณภาพของวัสดุก่อสร้าง โดยมีข้อสงสัยว่าเหล็กที่ใช้ในโครงสร้างอาคาร อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหา เพราะหากเหล็กที่ใช้ไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงตามมาตรฐาน ย่อมเพิ่มความเสี่ยงการแตกร้าว หรือถล่มของอาคารได้
ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กจึงพร้อมสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งให้ความสำคัญในนโยบายควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าอุตสาหกรรม และกำกับดูแลโรงงาน เพื่อป้องกันลดผลกระทบจากความเดือดร้อนต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จากการใช้สินค้าเหล็กที่ถูกผลิตและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งมีข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐ
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เปิดเผยว่า กรณีอุบัติเหตุดังกล่าว ขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผละกระทบ และชื่นชมกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และทีมงานสุดซอย ซึ่งได้เร่งตรวจสอบอย่างเข้มข้น ณ ที่เกิดเหตุเพื่อเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นจากซากอาคารไปทดสอบที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย โดยจากผลการทดสอบเบื้องต้น มีกรณีคุณภาพเหล็กไม่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทั้งกรณีมวลเหล็กน้ำหนักเบากว่ามาตรฐาน และกรณีเหล็กไม่ผ่านเกณฑ์ค่าความสามารถในการต้านแรงดึง ชี้ให้เห็นถึงปัญหาคุณภาพของเหล็กที่ใช้ในอาคาร แต่การตรวจสอบเพิ่มเติม จะช่วยให้สามารถยืนยันวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ที่ชัดเจน
เจาะลึกต่อไปได้
สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กพร้อมสนับสนุนการดูแลมาตรฐานของสินค้าอุตสาหกรรม ทั้ง 1.การเร่งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ เข้าใจในคุณภาพสินค้าอุตสาหกรรมและการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ อย่าพิจารณาเพียงปัจจัยสินค้าราคาถูกเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้สินค้าด้อยคุณภาพในงานหรือกิจการต่างๆ 2.สนับสนุนการเร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สินค้าเหล็กเพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์ หรือทบทวน มอก.ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และ 3.สนับสนุนให้มีการกำกับควบคุมแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
นายนาวายังได้กล่าวต่อว่า ในฐานะอุตสาหกรรมเหล็กที่เป็นอุตสาหกรรมต้นๆของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบเชิงลบรุนแรงหลายด้าน และไม่อยากให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ของประเทศไทยเจอปัญหาดังกล่าวซ้ำรอยด้วยเช่นกัน จึงขอเสนอแนะบางประการซึ่งหวังให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มาทำงานร่วมกันอย่างกล้าหาญ เพื่อปกป้องและรักษาอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้อย่างทันการณ์
1.ภาครัฐควรกลั่นกรองคัดเลือกโรงงานที่จะชวนเชิญมาลงทุนและได้รับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนในไทยโดยเน้นเฉพาะอุตสาหกรรมที่อุตสาหกรรมไทยยังขาด หรือเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ และช่วยเพิ่มการจ้างงานของคนไทยจำนวนมาก เพราะบทเรียนจากอุตสาหกรรม เหล็ก ซึ่งเผชิญคู่แข่งต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานเหล็กในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานเหล็กจากจีนส่วนใหญ่ที่พบว่าเป็นโรงงานผลิตสินค้าเหล็กซึ่งซ้ำกับโรงงานเดิมในไทย ซึ่งมีกำลังการผลิตเหลือเกินความต้องการใช้อยู่แล้ว ทำให้หลายโรงงานเดิมของคนไทยต้องปิดกิจการลง หรือขายให้ทุนจีน นอกจากนั้น โรงงานจีนเหล็กส่วนใหญ่มักใช้แรงงานจีน และแรงงานต่างด้าว โดยใช้แรงงานไทยในสัดส่วนน้อยมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกเปรียบเสมือนอุตสาหกรรม “ศูนย์เหรียญ”
2.ภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งดำเนินการมาตรการปกป้องทางการค้าเข้มข้นและเร็วทันการณ์ยิ่งขึ้น ได้แก่ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention) โดยหากจำเป็นประเทศไทยควรกล้าใช้มาตรการอื่นด้วย เช่น ปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safe guard) หรือตอบโต้การอุดหนุน (Counter vailing Duty) ซึ่งเราไม่เคยใช้เลยทั้งที่กฎหมายนี้ออกแล้ว 25 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าเหล็กจากจีนซึ่งทุ่มส่งออกเหล็กไปทั่วโลก ทั้งในรูปแบบการส่งออกจากจีนโดยตรงสินค้าเหล็กโดยตรงและโดยอ้อม
“ในระยะหลังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนอยู่ภาวะถดถอยจนความต้องการใช้เหล็ก ในจีนลดลงมาก ทำให้ปี 2567 จีนส่งออกสินค้าเหล็กมากสุดเป็นประวัติการณ์ 110.7 ล้านตัน ทำให้ทั้งอเมริกาและยุโรปต่างใช้มาตรการตอบโต้ป้องกันสินค้าเหล็กจากจีนอย่างจริงจัง จีนจึงหันมามุ่งทุ่มสินค้าเหล็กส่วนใหญ่ราว 60 ล้านตันต่อปี มาที่ภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย และนอกจากเหล็กทางตรง ประเทศจีนยังส่งออกเหล็กทางอ้อม ไปทั่วโลกมากขึ้น ในรูปแบบสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ซึ่งมีเหล็กเป็นองค์ประกอบ เช่น โครงสร้างอาคารเหล็กสำเร็จรูปจากจีน ซึ่งส่งมายังไทยกว่า 6 แสนตันต่อปี หรือรถยนต์ส่งออกจากจีนไปทั่วโลกคาดว่าใช้เหล็กราว 10 ล้านตันต่อปี”
สำหรับข้อเสนอที่ 3.นายนาวากล่าวว่า อยากให้รัฐมีการส่งเสริมให้การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าต่างๆ ที่ผลิตในประเทศไทยและได้รับการรับรอง Made in Thailand (MIT) มากยิ่งขึ้น ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาคราชการซึ่งงบประมาณปี 2568 ยอด 540,000 ล้านบาท ควรเน้นใช้สินค้า MIT ในอัตรา 15% หรือมากกว่า รวมทั้งขยายผลไปยังโครงการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) ตามนโยบายของรัฐซึ่งมีงบลงทุนร่วมล้านล้านบาทในระยะเวลา 8 ปี ขณะเดียวกัน ขอให้ขยายการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า MIT โดยภาคเอกชนด้วยกันเอง โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านค่าใช้จ่ายมาลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเอกชนที่ซื้อสินค้า MIT เป็นต้น
“ปัญหาดังกล่าวถือเป็นความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ต้องร่วมมือกันในการรักษามาตรฐานของเหล็กไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน การส่งเสริมการผลิตเหล็กที่มีคุณภาพสูง โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตร
กับสิ่งแวดล้อม”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม