“ลูกหนี้” แบบไหนที่รัฐควรช่วย

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ลูกหนี้” แบบไหนที่รัฐควรช่วย

Date Time: 25 มี.ค. 2568 05:00 น.

Summary

  • ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รมว.คลัง “พิชัย ชุณหวชิร” ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าแนวทางซื้อหนี้คืนจากประชาชน ว่า กลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลอยากจะซื้อหนี้คืน คือ ลูกหนี้กลุ่มที่เป็นหนี้เสียที่ติดต่อไม่ได้ หรือเป็นลูกหนี้ที่ไม่ยอมเข้าโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งมีอยู่ประมาณ 400,000 ล้านบาท

Latest

กรมรางฯพาเปิดโลกดูงานรถไฟข้ามทวีป เส้นทาง “สิงคโปร์-ไทย-จีน” เชื่อมยุโรป

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รมว.คลัง “พิชัย ชุณหวชิร” ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าแนวทางซื้อหนี้คืนจากประชาชน ว่า กลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลอยากจะซื้อหนี้คืน คือ ลูกหนี้กลุ่มที่เป็นหนี้เสียที่ติดต่อไม่ได้ หรือเป็นลูกหนี้ที่ไม่ยอมเข้าโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งมีอยู่ประมาณ 400,000 ล้านบาท

สวนทางกับข้อเสนอของนักวิชาการ และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของแบงก์พาณิชย์ที่มองว่า “ลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นลูกหนี้ที่ช่วยได้ยาก มีโอกาสตามหนี้สำเร็จน้อย” เพราะที่ผ่านมาเมื่อแบงก์ได้รับข้อเสนอในโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ได้ติดต่อไปยังลูกหนี้กลุ่มนี้ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในสถานะ “ไม่สู้ หรือสู้ไม่ได้แล้ว” แม้จะเสนอให้ชำระหนี้เพียง 10% ของวงเงินผ่อนเดิมก็ผ่อนไม่ได้ ทำให้อาจจะไม่คุ้มค่าหากจะต้องนำเงินงบประมาณของรัฐไปซื้อหนี้กลุ่มนี้ออกมาบริหาร!!

เพราะในหลักการ “ซื้อหนี้ออกมาบริหาร” ตามมาตรฐานสากล เป็นการซื้อหนี้ในลักษณะที่มีส่วนลดเพื่อนำมาบริหาร เช่น หากมูลหนี้ที่จะซื้ออยู่ที่ 400,000 ล้านบาท เมื่อเจรจากันแล้ว อาจจะซื้อในเสนอราคาลด 40% หรือ 50% จากมูลหนี้รวม และนำมาบริหารจัดการติดตามหนี้ หากได้รับชำระหนี้ในอัตรา 60-70% ที่ซื้อมาก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

ซึ่งในกรณีนี้การช่วยเหลือของรัฐ ซื้อหนี้มาในราคา 60% ได้คืนต่ำกว่านั้นสัก 30–40% ขาดทุนบ้างก็ถือว่าไม่เลวร้าย แต่หากซื้อมาแล้วได้คืนน้อยมาก หรือไม่ได้คืนเลยอาจจะทำใจลำบาก

เพราะอย่าลืมว่า “หากเป็นการซื้อหนี้เอ็นพีแอลก็คือลูกหนี้ที่ไม่ได้ส่งหนี้อยู่แล้ว” เขาจะกลับมาเป็นหนี้ที่ดีได้ต่อเมื่อเริ่มมีการชำระหนี้ หมายความว่า เขาต้องหักเงินส่วนหนึ่งจากรายได้มาใช้หนี้ ซึ่งแตกต่างจากหลักการของรัฐบาลที่อยากให้การซื้อหนี้เป็นการลดผ่อนภาระในการส่งหนี้ของคนไทยลง

ดังนั้น หากถามว่า แล้วลูกหนี้กลุ่มไหนที่รัฐควรช่วยเหลือ “คำตอบ” ของนักวิชาการคือ ลูกหนี้ที่ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นหนี้ดีได้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เคยเป็นหนี้ที่ดีมาก่อน แต่สะดุดกลายเป็นหนี้เสีย เพราะสาเหตุต่างๆ เช่น ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาในช่วงโควิด-19 หรือลูกหนี้ธุรกิจที่มีปัญหาจากสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด วันนี้ลูกหนี้เหล่านี้อาจไม่เข้าโครงการคุณสู้ เราช่วยได้ เพราะติดเงื่อนไข “ค่าผ่อนงวดที่สูงเกินกว่ากำลัง” หรือ “ไม่ต้องการยุติวงเงินหมุนเวียน” หากรัฐซื้อหนี้ออกมาแล้วให้ออปชันที่ดีกว่า เช่น ลดดอกเบี้ย วงเงินชำระต่ำ ยืดเวลาชำระหนี้ และยังใช้วงเงินหมุนเวียนได้อยู่ แต่อาจจะลดลงเหลือ 50% ลูกหนี้เหล่านี้อาจจะผ่อนคืนและปิดจบหนี้ได้ในที่สุด

นอกจากนั้น สำหรับโครงการคุณสู้ เราช่วย สิ่งที่นักวิชาการเสนอคือ หากไม่สามารถปรับเงื่อนไขของโครงการ ธปท.และรัฐบาล ควรจะชักชวนให้ “นอนแบงก์” มาเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างเข้มข้นกว่านี้ เพราะเท่าที่ทราบมามีลูกหนี้นอนแบงก์จำนวนมากที่มีคุณสมบัติอยากเข้าโครงการ แต่เจ้าหนี้ยังไม่ได้เข้าร่วม

และสุดท้ายขอย้ำคีย์เวิร์ดสำคัญของการแก้หนี้ให้สำเร็จ คือ การเพิ่มรายได้ลูกหนี้ให้เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอย่างดีไปพร้อมๆกับมีเงินผ่อนส่งหนี้ เพราะสิ่งนี้สำคัญที่สุด.

มิสเตอร์พี

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ