นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกกลับมาโตต่อเนื่องทำให้ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ศักยภาพของสนามบินของไทยโดยเฉพาะสนามบินภูมิภาค ซึ่งถือเป็นสนามบินที่ส่งต่อนักท่องเที่ยวไปยังเมืองต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) ยังมีการให้บริการเที่ยวบินไม่เต็มศักยภาพ รวมถึงมีข้อจำกัดหลายด้านในการพัฒนา
โดยเฉพาะสนามบินภูเก็ตที่เป็นสนามบินภูมิภาค มีปริมาณนักท่องเที่ยวและเที่ยวบินขึ้น-ลง สูงเป็นอันดับสาม รองจากสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง แต่มีขีดความ สามารถรองรับได้ 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากสนามบินมีข้อจำกัดทางกายภาพที่มีทางวิ่ง (รันเวย์) 1 เส้น จึงตั้งเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของสนามบินภูเก็ต ให้ได้ 35 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ภายในปี 68 รวมถึงให้พิจารณาขีดความสามารถของสนามบินอื่นๆในภูมิภาคด้วย เพื่อให้การพัฒนารองรับเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
“ทาง บวท.ได้เลือกสนามบินฟูกูโอกะ ซึ่งเป็นสนามบินหลักของภูมิภาคคิวชู ประเทศญี่ปุ่น มาเป็นคู่เทียบและเป็นมาตรฐานหรือ Benchmark ในการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ เพราะมีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงสนามบินภูเก็ตและสนามบินหลักของภูมิภาคอื่นๆของไทย เนื่องจากสนามบินฟูกูโอกะ เป็นสนามบินที่มีรันเวย์เส้นเดียว (Single Runway) ที่รองรับเที่ยวบินได้สูงที่สุดในญี่ปุ่น 38 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ขณะที่สนามบินภูเก็ต ซึ่งมีรันเวย์เดียวรับได้เพียง 25 เที่ยวบิน จึงให้เพิ่มศักยภาพสนามบินภูเก็ตรับเที่ยวบินได้ 35 เที่ยวบิน ในปี 68
ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า ปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือน ต.ค.67-ม.ค.68 รวม 4 เดือนอยู่ที่ 165,474 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่่งหากคิดเฉพาะเที่ยวบินระหว่างไทย-ญี่ปุ่น มีปริมาณ 7,588 เที่ยวบิน คิดเป็น 5% ของเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด โดยญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 7 ที่ทำการบินเข้าออกสูงสุด ปัจจุบันเฉลี่ยวันละ 62 เที่ยวบิน
“บวท.ได้ศึกษาดูงานของสนามบินฟูกูโอกะ และนำรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ ทั้งการบริหารจัดการห้วงอากาศ การบริหารจัดการลักษณะทางกายภาพของสนามบิน ทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดอากาศยาน และการบริหารจัดการการใช้งานทางวิ่ง เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง และแนวทางการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศของสนามบินภูเก็ต และสนามบินภูมิภาคอื่นๆ”
นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) จะต้องมีการสร้างเส้นทางบินควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มความปลอดภัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศ ความปลอดภัยในการให้บริการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ซึ่งการสร้างเส้นทางบินที่สำคัญจะต้องมีการประสานงานกับนานาชาติ เพื่อสร้างเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนาน (Parallel Route) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาคอขวด เช่น เส้นทางการบินเข้า-ออกระหว่างไทยกับจีนทำให้เพิ่ม จาก 1 แสน เที่ยวต่อปี เป็น 2 แสนเที่ยว เส้นทางบินที่ผ่านทางอินเดียเพื่อไปยุโรป ย้ายจาก 1.3 แสนเที่ยวต่อปี เป็น 2 แสนเที่ยวต่อปี และอีกเส้นทางที่อยู่ระหว่างดำเนินการเจรจา คือเส้นทางที่ผ่านไปทางเวียดนามเลือกไปทางฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
นอกจากนี้ จะมีการสร้างเส้นทางบินลงไปด้านใต้ผ่านทางมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยบินผ่านเส้นทางให้มากขึ้น ซึ่งตามการคาดการณ์ของ ICAO และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดว่าในปี 70 ไทยจะมี 1.4 ล้านเที่ยวบิน ในปี 69 ปริมาณเที่ยวบินจะกลับไปเท่ากับปี 62 และในปี 80 จะขึ้นไปอยู่ที่ 2 ล้านเที่ยวบิน
นายณพศิษฏ์ กล่าวต่อว่า นอกจากสร้างเส้นทางบินใหม่รองรับปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้น บวท.จะต้องลงทุน เพื่อรองรับการให้บริการจราจรทางอากาศ 3 ศูนย์ ได้แก่ 1.สนามบินอู่ตะเภา โดยเตรียมพร้อมให้บริการเดินอากาศ วงเงินลงทุน 1,256 ล้านบาท ขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว มีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 72 2.ศูนย์ให้บริการเดินอากาศ จ.พังงา รองรับสนามบินใหม่ คือ สนามบินอันดามัน บริหารการจราจรทางอากาศ ร่วมกับสนามบินภูเก็ต กระบี่ อันดามัน ลงทุน 1,200 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 73 และ 3.ศูนย์ให้บริการเดินอากาศบ้านธิ จ.ลำพูน เพื่อรองรับสนามบินใหม่คือ สนามบินล้านนา วงเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 73 โดยทั้ง 3 ฮับรองรับ 1 แสนเที่ยวบินต่อปี
ทั้งนี้ บวท.ยังได้เร่งพัฒนาศักยภาพบริการจราจรทางอากาศของศูนย์ควบคุมการบินภูมิภาคทั้ง 9 แห่ง ตามแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาค โดยปัจจุบัน บวท.มีศูนย์ควบคุมการบินหลัก ที่ทุ่งมหาเมฆ, สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง และส่วนภูมิภาค 9 แห่ง ซึ่งดูแล 27 เขตการบิน คือ 1.ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ 2.ศูนย์ควบคุมการบินพิษณุโลก 3.ศูนย์ควบคุมการบินหัวหิน 4.ศูนย์ควบคุมการบินอุดรธานี 5.ศูนย์ควบคุมการบินอุบลราชธานี 6.ศูนย์ควบคุมการบินนครราชสีมา 7.ศูนย์ควบคุมการบินหาดใหญ่ 8.ศูนย์ควบคุมการบินสุราษฎร์ธานี.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่