“มนพร” พับแผนโอนย้าย 3 สนามบิน “กระบี่–อุดรฯ–บุรีรัมย์” ไปให้ ทอท.ดูแล เหตุเป็นสนามบินที่มีศักยภาพสร้างรายได้ กำไร ช่วยพยุงสนามบินภูมิภาคที่ขาดทุน พร้อมลงพื้นที่สนามบินทั่วไทย นำร่องสนามบินกระบี่ รื้อระบบบริหารจัดการมาเฟีย หวังสร้างรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น 30% ลั่น! เปิดกว้างเอกชนลงทุนสนามบินรูปแบบ PPP
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า จากที่เข้ามารับตำแหน่ง รมช.คมนาคม โดยกำกับบริหารงานกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ที่ดูแลรับผิดชอบสนามบินในภูมิภาค 28 แห่ง พบว่าสนามบินภูมิภาคแต่ละแห่งจะมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันไป บางแห่งเป็นสนามบินหลักของภูมิภาคสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารเข้า-ออกจำนวนมาก สนามบินบางแห่งสามารถรับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศได้เลย ขณะเดียวกันก็สามารถรองรับเที่ยวบินระหว่างภูมิภาคได้
ขณะที่การดำเนินงาน 28 สนามบินของภาครัฐนั้น ยอมรับว่า ยังมีรายได้บริหารจัดการ ที่ไม่ครอบคลุมรายจ่าย ซึ่งผลประกอบการในปีที่ผ่านมาพบว่า ทย.มีรายได้และทำกำไรได้ 250 ล้านบาท ขณะที่มีรายจ่ายรวม 330 ล้านบาท ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนกว่า 80 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อแยกสนามบินที่ทำรายได้และกำไรสูงสุดของ ทย. จะพบว่า สนามบินกระบี่ มีกำไรถึง 180 ล้านบาท สนามบินอุดรธานี กำไร 30 ล้านบาท สนามบินขอนแก่น มีกำไรรวมกว่า 40 ล้านบาท ซึ่งหลักการสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทย.ที่มีกำไรจะถูกนำมาบริหารจัดการค่าใช้จ่าย อุดหนุนสนามบินที่ขาดทุน โดยตนมีนโยบายที่จะเข้าไปปรับปรุง บริหารจัดการสนามบินภูมิภาคทั้ง 28 สนามบินใหม่ให้มีการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เลี้ยงตัวเองได้
“มองว่า แต่ละแห่งหากกำกับดีๆไม่ปล่อยให้รั่วไหล เชื่อมั่นว่าจะบริหารจัดการให้สนามบินภูมิภาคยืนอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณ ทำให้มีนโยบายที่จะชะลอแผนการโอนย้าย 3 สนามบิน คือ สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ ที่จากเดิมมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.65ที่เห็นชอบในหลักการให้มีการโอน 3 สนามบินไปอยู่ในความรับผิดชอบ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ออกไปก่อน เนื่องจากเป็นสนามบินที่สร้างรายได้หลักให้กับ ทย.”
โดยได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปทบทวนและรวบรวมข้อดี ข้อเสีย ของการโอนย้ายสนามบินทั้ง 3 แห่งไปให้ ทอท.อีกครั้ง โดยได้กำชับให้ ทย.พัฒนาและปรับปรุงสนามบินในความรับผิดชอบ รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกผู้โดยสารรองรับการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น โดยเป้าหมายหลักคือเน้นเดินหน้าพัฒนาและปรับปรุงสนามบินภูมิภาคที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีศักยภาพ มีความพร้อมที่จะรองรับผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวก
โดยในเดือน ส.ค.68 นี้ ใน 7 สนามบิน คือ สนามบินกระบี่ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี อุดรธานี ขอนแก่น นครศรีธรรมราช และพิษณุโลก จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินเพิ่มขึ้นอีก 25 บาทต่อคนจากเดิม ทำให้เส้นทางบินในประเทศ เพิ่มจาก 50 บาท เป็น 75 บาท ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศจาก 400 บาทเป็น 425 บาท
นางมนพร กล่าวเพิ่มว่า การที่จะทำให้สนามบินภูมิภาคของ ทย.ทั้ง 28 แห่งอยู่ได้ มีรายได้เลี้ยงตัวเอง จะต้องปลอดผู้มีอิทธิพลเข้าไปหาผลประโยชน์ในสนามบิน ตนในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีรับผิดชอบกำกับได้ลงไปให้นโยบายและบริหารจัดการสนามบินภูมิภาคแต่ละแห่งให้เป็น “สนามบินมีชีวิต” ซึ่งการเป็นสนามบินมีชีวิตคือ ต้องมีอัตลักษณ์ มีเสน่ห์ แนะนำแหล่งท่องเที่ยว มีระบบขนส่งมวลชนจากสนามบินเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด และที่สำคัญจะต้องปลอดมาเฟียสนามบินที่เข้ามาหาประโยชน์ส่วนตนในสนามบินของรัฐโดยรายได้ไม่ถึงรัฐ
“สนามบินแรกที่ได้ลงไปจัดการคือ สนามบินกระบี่ ซึ่งสนามบินแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นสนามบินที่มีผู้มีอิทธิพลเข้าไปหาประโยชน์มายาวนานและฝังรากลึก ที่ผ่านมาไม่มีใครสามารถจัดการได้ จึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะกวาดบ้านล้างผู้มีอิทธิพลทั้งคนใน ทย. และคนนอกออกไป รวมถึงให้นโยบายทุกสนามบินจะต้องมีการเปิดประกวดราคาหาเอกชนเข้ามาบริหารพื้นที่ร้านค้าเชิงพาณิชย์ มีสัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการเก็บรายได้ส่งสนามบิน”
นางมนพร เล่าต่อว่า ขณะเดียวกันก็ให้ทุกสนามบินตั้งคณะทำงานบูรณาการภายในสนามบิน โดยมีหัวหน้าหน่วยงานในจังหวัดทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อให้การต่อยอดการพัฒนาสนามบินและท้องถิ่นควบคู่กันไป เช่น มีกรรมการจากขนส่งจังหวัดดูแลการออกไลเซนส์รถขนส่งสาธารณะจากสนามบินเข้าเมือง รวมถึงเปิดกว้างให้มีแท็กซี่ต่างๆเข้าไปรับผู้โดยสารได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะบริษัทที่ได้สิทธิเข้ามารับส่งโดยไม่ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้อง รวมถึงเปิดให้มีวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นของจังหวัดนั้นๆ สามารถเข้าไปตั้งร้านค้าขายในสนามบินได้ เป็นต้น
“จากการลงพื้นที่สนามบินกระบี่และกวาดล้างมาเฟียได้ถือได้ว่าทำตามเป้าหมาย เพราะหากสนามบินแห่งนี้ ทย.ทำได้ ก็มั่นใจว่า สนามบินภูมิภาคกว่า 28 แห่งที่ ทย.กำกับจะมีทิศทางการบริหารงานที่ดีและสดใส สร้างรายได้ให้กับ ทย.เพิ่มขึ้นกว่า 30% แน่นอน”
ทั้งนี้ จากการติดตามสนามบินทั้ง 28 แห่งของ ทย.พบว่า บางแห่งสร้างเสร็จ แต่ยังไม่ใช้ศักยภาพสนามบินเต็มที่ หรือบางแห่งสร้างแล้วเครื่องบินลงได้เฉพาะรุ่น บางสนามบินสร้างอาคารผู้โดยสารสวยงาม แต่ไม่มีเที่ยวบินบินมาลง ทำให้การลงทุนของภาครัฐไม่คุ้มค่า เพราะสนามบินหนึ่ง ต้องใช้เงินลงทุนถึง 2,000-3,000 ล้านบาท
ดังนั้น นโยบายต่อไปนี้ภาครัฐ โดยกรมท่าอากาศยาน จะต้องไม่เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างสนามบินภูมิภาคแห่งใหม่อีกแล้ว แม้ว่าจะมีผลการศึกษาว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างได้ก็ตาม แต่นโยบายจะเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนใหม่จากรัฐดำเนินการเปลี่ยนมาเป็นเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ลงทุนรูปแบบ PPP
โดยขณะนี้ได้ให้ ทย.ไปทำการบ้านว่าจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในสนามบินแห่งใหม่ที่ไหนก่อน แบบสนามบินเดียว หรือรวมลงทุนหลายสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นสนามบินบึงกาฬ สนามบินกาฬสินธุ์ สนามบินพัทลุง สนามบินพะเยา ที่กำลังมีการศึกษา ส่วนการออกใบรับรองสนามบินสาธารณะของสนามบินภูมิภาค ได้ใบรับรองสนามบินสาธารณะแล้ว 5 แห่ง โดยที่ได้แล้วคือ สนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินเบตง และในปีนี้จะได้ใบรับรองสนามบินสาธารณะเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ สนามบินกระบี่ และสนามบินพิษณุโลก และจะเร่งรัดแต่ละสนามบินในภูมิภาคที่เหลือให้ได้รับใบรับรองสนามบินสาธารณะ ตามมาตรฐานสากล.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่