เปิดข้อมูล “คนไทยมีงานทำ” โดยอ้างอิงจากรายงาน “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ซึ่งระบุว่า ณ สิ้นปี 2567 ไทยมีอัตรา “การว่างงาน” รวม 3.19 แสนคน โดยกลุ่มคนที่จบการศึกษาระดับสูงมีสัดส่วนว่างงานมากที่สุด โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา กว่า 9.1 หมื่นคน
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า มาจากผลกระทบลากยาว การแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาทางเศรษฐกิจได้สร้างภาวะชะงักงัน ในหลายอุตสาหกรรม ทำให้มีการปลดพนักงานและลดการรับคนใหม่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ที่จบใหม่ไม่สามารถหางานได้ง่ายขึ้น
รวมไปถึงความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะที่เรียนและความต้องการในตลาดแรงงาน หลังจากพบว่าหลายคนที่จบการศึกษาระดับสูงกับทักษะที่ติดตัวมานั้นไม่ตรงกับทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ
หรืออาจจะเป็นทักษะที่ล้าสมัย ขาดความรู้ในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือความรู้เฉพาะที่ต้องการในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต เช่น ด้านดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นต้น
ขณะล่าสุด TDRI หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดข้อมูลวิเคราะห์ประกาศรับสมัครงานเพื่อโอกาสของเด็กจบใหม่ พบมีประเด็นน่ากังวลมากขึ้น
หลังจากตลาดงานหรือนายจ้างส่วนใหญ่ระบุว่า บริษัทกำลังมุ่งไปสู่การเน้นรับคนมีประสบการณ์ 1-2 ปี เป็นหลัก ขณะผู้ไม่มีประสบการณ์มีโอกาสรับเข้าทำงานเพียง 22% เท่านั้น
ผลการวิเคราะห์พบว่า จากตำแหน่งที่ประกาศรับสมัครทั้งหมด ส่วนใหญ่ต้องการผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานขั้นต่ำ 1-2 ปีมากที่สุดถึง 84,669 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 38.3% ของประกาศรับสมัครงานทั้งหมด
รองลงมาคือตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไป จำนวน 54,877 ตำแหน่ง คิดเป็น 24.8% ตามด้วยตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ 49,366 ตำแหน่ง คิดเป็น 22.3% และตำแหน่งงานที่ไม่ระบุประสบการณ์ทำงานอีกจำนวน 32,427 ตำแหน่ง หรือ 14.7%
จากชุดข้อมูลดังกล่าว จะพบว่า แม้จะมีตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงานอยู่บ้าง แต่ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ในประกาศรับสมัครออนไลน์ก็ยังต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงาน
โดยมีตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ทำงานถึง 63.1% ซึ่งสะท้อนว่าตำแหน่งงานส่วนใหญ่ต้องการผู้สมัครที่มีความรู้ ทักษะ และความเข้าใจในการทำงานจริง
ขณะประสบการณ์ทำงานที่นายจ้างต้องการในประกาศรับสมัครงานมีแบบแผนดังนี้
ทั้งนี้ TDRI แนะว่า นี่เองอาจทำให้รัฐและสถานศึกษาต้องเร่งปรับหลักสูตรและส่งเสริมการฝึกงานให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการว่างงาน
โดยรัฐบาลควรพิจารณาส่งเสริมการฝึกงานสำหรับผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน (internship หรือ traineeship) โดยอาจศึกษาแนวทางในต่างประเทศ และร่วมหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้สามารถออกแบบมาตรการที่สามารถใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ รัฐบาลควรส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี (สถานประกอบการและสถานศึกษาร่วมกันฝึกปฏิบัติจริงให้กับผู้เรียน) หรือสหกิจศึกษา (ระบบการศึกษาที่ผสมผสานการเรียนเข้ากับการทำงาน) มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ทำงานอย่างเข้มข้นในสาขาอาชีพที่เรียนมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหางาน และช่วยให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกของการทำงานได้ราบรื่นมากขึ้น
ที่มา: TDRI ,สภาพัฒน์ ,สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney