สศช. คาดจีดีพีปนี้โตแค่ 2.8% แนะเพิ่มแพ็กเกจลงทุน-ปันงบเงินดิจิทัลจัดการน้ำ

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สศช. คาดจีดีพีปนี้โตแค่ 2.8% แนะเพิ่มแพ็กเกจลงทุน-ปันงบเงินดิจิทัลจัดการน้ำ

Date Time: 18 ก.พ. 2568 09:55 น.

Summary

  • สศช.ประเมินจีดีพีปี 68 ขยายตัว 2.8% ต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลต้องการให้โต 3–3.5% ทั้งที่รวมผลโครงการแจกเงินผ่านดิจิทัล วอลเล็ตแล้ว ลั่นถ้าต้องการโตตามเป้าหมาย รัฐควรปันเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1.57 แสนล้านบาทบางส่วนมาลงทุนบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ

Latest

เศรษฐกิจไทยยังลูกผีลูกคน 2 เม.ย.นี้ผวาไทยไม่รอด! ถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า

สศช.ประเมินจีดีพีปี 68 ขยายตัว 2.8% ต่ำกว่าเป้าที่รัฐบาลต้องการให้โต 3–3.5% ทั้งที่รวมผลโครงการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว ลั่นถ้าต้องการโตตามเป้าหมาย รัฐควรปันเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1.57 แสนล้านบาทบางส่วนมาลงทุนบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ พร้อมกระตุ้นบริโภค และลงทุนเอกชน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ว่า ไตรมาส 4 ปี 67 ขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจาก 3% ในไตรมาส 3 ปี 67 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ไตรมาส 4 ขยายตัวจากไตรมาส 3 ที่ 0.4% ส่งผลให้ทั้งปี 67 ขยายตัว 2.5% เร่งขึ้นจาก 2% ในปี66 ส่วนแนวโน้มปี 68 คาดขยายตัว 2.3-3.3% มีค่ากลาง 2.8% “จีดีพีไตรมาส 4 ปี 67 ขยายตัว 3.2% ไม่สูงมาก เพราะปัญหาภาคอุตสาหกรรม โดยยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์มีปัญหาจากการเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องแก้ให้ประชาชนปลดหนี้ให้ได้ และกลับมามีกำลังใช้จ่าย”

ส่วนแนวโน้มการขยายตัวของปีนี้ที่ 2.8% นั้น ได้รวมการจ่ายเงินผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการ และผลกระทบ สงครามการค้าโลกไว้แล้ว สำหรับเป้าหมายเชิงนโยบายของรัฐบาลที่ขยายตัว 3-3.5% คงต้องใช้มาตรการต่างๆมาเสริมมากขึ้น ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การกระตุ้นการบริโภค และภาครัฐต้องจัดทำแพ็กเกจการลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการขนาดไม่ใหญ่ ระดับ 5-10 ล้านบาท กระจายไปทั่วประเทศ จะส่งผลให้เกิดปัจจัยการผลิตในระยะยาว และสร้างความมั่นคงการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ก็อาจทำให้เป้าหมายรัฐบาลประสบความสำเร็จได้ โดยแบ่งงบจากเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 157,000 ล้านบาท ที่เหลืออยู่หลังแจกเงินหมื่นบาทช่วยกลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุแล้ว

สำหรับการขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนนั้น เห็นว่ามาตรการของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ดำเนินการอยู่ จะช่วยผลักดันให้เกิดการลงทุนเอกชนได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปีในการก่อสร้าง ซึ่งตามที่กระทรวงการคลังคาดว่าจะมีการลงทุนกว่า 75,000 ล้านบาท ก็เป็นไปได้ เพราะการลงทุนจะเกิดขึ้นจริงภายใน 1-1.5 ปี ส่วนนี้หากมีมาตรการเร่งรัดก็จะทำให้ลงทุนเพิ่มขึ้นได้

“ปี 68 คาดว่าการลงทุนรวมขยายตัว 3.6% โดยลงทุนเอกชนขยายตัว 3.2% เพิ่มจากปีก่อนที่ติดลบ 1.6% ซึ่งจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 3.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น 100,000-120,000 ล้านบาท ส่วนการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ยังจำเป็นหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม และเน้นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เพื่อช่วยให้มีเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ รองรับผลกระทบจากสงครามการค้า และเรื่องอื่นๆด้วย ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาจะมีอะไรออกมาลดผลกระทบช่วงครึ่งปีหลัง”

สำหรับกรณีที่เอกชนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี รัฐบาลเร่งรัดมาตรการทางเศรษฐกิจ ทั้งเบิกจ่ายงบประมาณ และเร่งรัดลงทุน ดังนั้น ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินจึงไม่มากนัก อีกทั้งหลังการรับตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ เงินเฟ้อสหรัฐฯปรับขึ้นจากนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้า จึงเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) อาจขึ้นดอกเบี้ย หากไทยลดดอกเบี้ยก่อน อาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง แม้จะดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่จะทำให้ต้นทุนนำเข้าสูงขึ้น โดยเฉพาะพลังงาน และกระทบต่อไทยมาก.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ