ธนาคารโลกประเมินไทยโต 2.9% ในปีนี้ จากการท่องเที่ยวและมาตรของรัฐที่กระตุ้นเศรษฐกิจสูงสุดในอาเซียน มองนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลช่วยจีดีพีโต 0.3% ช่วยความยากจนลดลง แต่ก็สร้างความเสี่ยงต่อนโยบายการคลัง ชี้ไทยต้องเร่งยกระดับเอสเอ็มอี เพิ่มนวัตกรรมก่อนจะเติบโตได้ต่ำมากใน 5 ปีข้างหน้า ด้าน “พิชัย” ขอคนไทยอย่าเพิ่งกังวลมาตรการสหรัฐฯ คาดเจรจาได้พร้อมเอาใจสหรัฐฯเพิ่ม
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวในงานที่จัดโดยธนาคารโลกว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับที่ต่ำมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโควิด-19 แต่ทิศทางของเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้น โดยการส่งออกของไทยปีที่ผ่านมาขยายตัวถึง 5.4% และมีการขอรับการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี มากกว่า 1 ล้านล้านบาท ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจำเป็นต้องแก้ไข เพราะหากคนต้องใช้รายได้เกือบ 100% ในการใช้หนี้ก็คงขยายตัวไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลกำลังเดินหน้าแก้ไขปัญหาอยู่
“ในส่วนมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯนั้น ขอให้อย่าเพิ่งตกใจ เพราะเรามีแผนอยู่แล้ว และการไปสหรัฐฯในครั้งที่ผ่านมา ถือว่าได้ผลที่น่าพอใจ เห็นทิศทางที่ชัดเจนในการเจรจามากขึ้น โดยตอนนี้เรากำลังรอคำตอบของสหรัฐฯว่า จะให้เจรจากับใคร และประเด็นใดบ้าง และเราจะเดินทางไปสหรัฐฯเพื่อเจรจากับเขาอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเราพร้อมที่จะผ่อนคลายและแลกเปลี่ยนในทิศทางที่ดีทั้งสองฝ่าย”
ด้านนางเมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคาร โลกประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แต่การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคตต้องกล้าตัดสินใจ การลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต ช่วยให้คนไทยปรับตัวรับมือกับความท้าทายระดับโลก ทั้งนี้ ธนาคารโลกมองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาที่ 2.9% จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และโครงการโอนเงิน 10,000 บาท ของรัฐบาล อัตราความยากจนลดลงเหลือ 8.2% ในปี 67 จาก 8.5% ในปี 66
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยว่า สำหรับปี 66 ที่ผ่านมา ธนาคารโลกประเมินว่า เศรษฐกิจไทยโตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 2.6% แต่หากเทียบกับการขยายตัวของประเทศเพื่อนบ้าน เราโตช้าที่สุด โดยถ้าเทียบกับเวียดนามเราฟื้นช้ากว่าเวียดนามประมาณ 10% เนื่องจากประเทศไทยอิงการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวกลับมาได้เท่ากับก่อนโควิด
ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมาก ถือเป็นกรรมเก่าของไทยที่บั่นทอนการบริโภค อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนมาดีในตอนท้ายปี มีการเข้ามาลงทุนสูงมากถือเป็นตัวช่วยที่มาทันเวลาพอดี และจากปัจจัยต่างๆ ธนาคารโลกมองว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มเร่งตัวขึ้น คาดว่าปีนี้จะขยายตัวดีขึ้น เป็น 2.9% จากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน และการใช้จ่ายในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยเฉพาะการแจกเงินหมื่น และกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งประเมินในเบื้องต้นว่า จะมีส่วนช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของปีนี้เพิ่มขึ้น 0.3%
นายเกียรติพงศ์กล่าวต่อว่า สำหรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยในส่วนการส่งออกสินค้าไทยผลิตโดยตรง อาจจะไม่น่ากังวลมาก เพราะเราไม่ได้เกินดุลเป็นประเทศระดับต้นๆ แต่ที่น่ากังวล คือ สหรัฐฯมองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของจีน โดยเฉพาะภาคอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์
ขณะที่เรื่องที่ต้องให้ความน่าสนใจคือ การรักษาความยั่งยืนทางการคลัง โดยมองว่าในปีที่ผ่านมา นโยบายการคลังกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจสูงสุดในอาเซียน ทั้งการลงทุนของรัฐ และกระตุ้นระยะสั้น ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีต้นทุนสูงถึง 0.8% ของจีดีพี ทำให้ต้องจับตาการดำเนินนโยบายในช่วงต่อไป เพราะธนาคารโลกเพิ่งปรับทิศทางหนี้สาธารณะของไทยว่าจะแตะ 70% ในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจำเป็นต้องทำ
“การยกระดับเอสเอ็มอี สร้างนวัตกรรมใหม่ และการสร้างสตาร์ตอัพ ดิจิทัลจะช่วยให้เกิดการขยายของรายได้ และเพื่อดูแลภาคการคลัง รัฐจำเป็นต้องมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมอย่างตรงเป้าหมาย เพิ่มการระดมรายได้จากภาษีมาช่วยกลุ่มคนที่เปราะบาง รวมทั้งต้องเร่งการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน และหากไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน คาดว่าการเติบโตของไทยจะลดลงจากค่าเฉลี่ย 3.2% ในช่วงปี 54-64 เหลือ 2.7% ในช่วงปี 65-73 ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูง”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม