ธนาคารโลก (World Bank) ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 เป็น 2.9% จาก 2.6% ในปี 2567 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการลงทุนที่ฟื้นตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงขึ้นและการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในแผน นอกจากนี้การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568
ในขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก นวัตกรรม ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีความยืดหยุ่นและพลวัตสูง จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับแนวโน้มการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจไทย เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย, ธนาคารโลก (World Bank) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา World Bank ได้ปรับลด Potential GDP อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 2.7% เนื่องจากปัญหาสังคมสูงอายุ และศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนที่ถดถอยลง สะท้อนจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ GDP ยังอยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ และคาดว่าภายในปี 2571 จะกลับมาเติบโตในระดับศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพเนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากช่วงโควิดอย่างรุนแรง และผลกระทบยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลังโควิดเศรษฐกิจเติบโตชะลอลงมาก ประกอบกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ในขณะที่การลงทุนยังไม่กลับมา จากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงมานาน ทำให้การบริโภคชะลอลงเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเข้าสู่ระดับศักยภาพได้จาก 3 ปัจจัย
1. ทำนโยบายการคลังให้ยั่งยืน ปัจจุบันไทยขาดดุลงบประมาณ 3.1% เนื่องจากการลงทุนภาครัฐ และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอย่าง digital wallet เพื่อให้สามารถดูแลเศรษฐกิจระยะสั้น ระยะยาวไปพร้อมกันได้ นโยบายการคลังจะต้องมุ่งเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (Targeted) และเพิ่มรายได้การจัดเก็บภาษี ด้วยการปฏิรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม และยกเลิกข้อยกเว้นภาษีบางประเภท นำรายได้ที่เพิ่มขึ้นคืนกลับเป็นสวัสดิการและเงินออมให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ตามหลักการ VAT Rebate เพื่อลดความยากจนอย่างยั่งยืน
2. ปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ลดความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ วางแผน exit strategy ทำอย่างไรให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินระยะยาว
3. ส่งเสริมศักยภาพการเติบโตระยะยาว ส่งเสริมการแข่งขันในภาคธุรกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทหน้าใหม่เข้าสร้างนวัตกรรมในตลาด พร้อมบูรณาการให้ธุรกิจไทยมีส่วนร่วมในซัพพลายเชนโลกมากขึ้น เพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิง ผ่อนคลายกฎหมาย ดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีความสามารถ เพื่อรักษาสัดส่วนประชากรวัยทำงานไม่ให้ลดลง
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney