แม้เพิ่งเริ่มต้น แต่การกลับมาอีกรอบของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยที่ 2 ทำให้สงครามการค้ารุนแรงขึ้นทันที หลังประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 10% มีผลวันที่ 4 ก.พ. 2568 โดยไม่เปิดโอกาสให้เจรจาต่อรอง ส่งผลให้จีนโต้กลับทันที ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ และได้ยื่นเรื่องขอหารือต่อองค์การการค้าโลก (WTO)
แม้ในส่วนของเม็กซิโกและแคนาดา ในฐานะ 2 ใน 3 ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าอีก 25% ได้ถูกชะลอออกไปอย่างน้อย 1 เดือน และเปิดการเจรจาต่อรองกับทั้ง 2 ประเทศ เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด การฟอกเงิน และผู้อพยพ
อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทรวงพาณิชย์แห่งรัฐบาลไทยคาดว่า สหรัฐฯจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอีกหลายประเทศตามมา รวมประเทศไทยที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯในอันดับ 10 โดยกำลังเตรียมการเจรจากับสหรัฐฯแล้ว...ท่ามกลางความคิดเห็นจากนักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้มากความสามารถต่อทิศทางและท่าทีของประเทศไทยในสถานการณ์ที่ล่อแหลมนี้
ผลกระทบของสงครามการค้าและเทคโนโลยี (Trade War&Tech War) ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทรัมป์ 1 ทำให้เกิดแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งในรูปแบบของภาษีและไม่ใช่ภาษี จากนโยบายที่ต้องการดึงการลงทุนกลับสหรัฐฯ (Reshoring) ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิต ต้องย้ายออกเพื่อหนีผลกระทบ โดยมีประเทศอาเซียนและอินเดียเป็นเป้าหมายสำคัญในการย้ายฐาน โดยเฉพาะไทยได้รับความสนใจจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ย้ายเข้ามาจากสถานการณ์ความขัดแย้งช่วงที่ผ่านมา
เปรียบเทียบขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนของไทยกับประเทศคู่แข่งในอาเซียน พบว่าหลังจากการประกาศใช้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก หรือ Global Minimum Tax ในอัตรา 15% ที่จะเรียกเก็บจากนิติบุคคลข้ามชาติ หรือ Multinational Enterprises ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร ทำให้ไทยและอีกกว่า 130 ประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงนี้ ที่เสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ไม่สามารถใช้มาตรการดึงดูดการลงทุนด้วยการยกเว้นภาษีได้ สร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมขึ้น
ประเทศไทยจึงต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มความสามารถในการดึงดูดการลงทุน เช่น การปรับลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและพลังงาน, ส่งเสริมพลังงานสะอาด, การสร้างแต้มต่อทางการค้าผ่านการเจรจาความตกลงการค้าเสรี เป็นต้น
สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าภาคอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และยานยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากจีน จากการศึกษาผลกระทบตามข้อเสนอในสมุดปกขาวของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่เข้ามาทุ่มตลาดไทย มีจำนวน 23 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม แก้วและกระจก เครื่องสำอาง ขณะที่เอสเอ็มอียังขาดความสามารถในการปรับตัวและการแข่งขันที่จะรับมือกับการตีตลาดของสินค้านำเข้า ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากนโยบายสหรัฐฯ ที่สามารถใช้โอกาสนี้ส่งออกสินค้าไปทดแทนในตลาดสหรัฐฯได้ เช่น อาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เป็นต้น
การขับเคลื่อนนโยบายสไตล์ทรัมป์ เน้นพุ่งเป้าให้ได้ประโยชน์สูงสุด เขาจะเน้นออกมาตรการที่หวังผลไว้สูง แต่จะเห็นได้ว่า 3 ประเทศที่เป็นเป้าหมายแรกของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก แคนาดา และจีน ต่างไม่ยอมอยู่เฉยๆ มีการออกมาตรการตอบโต้ แสดงให้เห็นว่าแม้เป็นประเทศเล็ก อย่างเม็กซิโก ก็ยังกล้าสู้ มีการขู่ขึ้นภาษีกลับแบบตรงเป้า เช่น แคนาดาจะเก็บภาษีกลับ 25% ในสินค้าหลายตัว ทำให้คนอเมริกันต้องจ่ายแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น
จนทำให้ทรัมป์เลื่อนการปรับขึ้นภาษีสำหรับเม็กซิโกและแคนาดาออกไป ผมมองว่านโยบายของทรัมป์ในรอบนี้ จะขับเคลื่อนได้ในระดับหนึ่ง เขาแค่ต้องการเปิดการเจรจามากกว่า ทรัมป์เป็นนักต่อรอง “การกลับมาของทรัมป์ครั้งนี้ ประเทศทั่วโลกรู้สไตล์เขาแล้ว และเตรียมพร้อมรับมือไว้ระดับหนึ่ง มีการใช้มาตรการสู้กลับ”
สำหรับประเทศไทย ผมมองว่าเรามีสิ่งที่พอทำได้และน่าทำ ได้แก่ 1.ลดแรงเสียดทานด้วยการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อปรับการได้ดุลการค้าลง สินค้าที่เราพอนำเข้าจากเขาได้ เช่น ข้าวโพด น้ำมัน
2.เราน่าจะมีโอกาสส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้น ในส่วนของสินค้าที่เขาต้องการ ขาดแคลน ได้แก่ สินค้าเกษตร อาหาร 3.ร่วมมือกับอาเซียนอย่างแน่นแฟ้น เหมือนที่กลุ่มสหภาพยุโรปทำ แม้ในสหภาพยุโรปจะมีความขัดแย้งกันภายใน แต่เพื่อรับมือกับสหรัฐฯ กลุ่มอียูรวมตัวกันแน่น แถมพยายามหาพันธมิตรอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพิ่ม เพื่อขยายอำนาจต่อรอง ไทยในฐานะสมาชิกอาเซียน สามารถเพิ่มอำนาจต่อรองในแบบเดียวกันได้
4.ต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่ทรัมป์ต้องการคือ 1.แก้ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2.เพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ หากรัฐบาลมีมาตรการด้านภาษี สนับสนุนเอกชนให้ไปลงทุนในสหรัฐฯได้ เหมือนกับที่สิงคโปร์ทำ อาจช่วยลดทอนแรงกดดัน โดยปัจจุบันมีเอกชนไทยที่มีศักยภาพออกไปลงทุนต่างประเทศมากมาย
“ในฝั่งไทย ผมมองว่ารัฐบาลต้องเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศไว้ด้วย ในกรณีผลกระทบรุนแรง ต้องเตรียมกระสุน (เม็ดเงิน) ไว้รับมือ ทำให้ตรงเป้า ไม่ใช่หว่านแห”
สหรัฐฯต้องการพันธมิตรชัดเจน ต้องการให้เลือกข้างระหว่างจีน สิ่งที่ไทยในฐานะประเทศเล็กต้องทำคือการสร้างสมดุลให้ดี “ทรัมป์ชอบคนที่ยกยอ ชอบคนเข้าหา การดำเนินนโยบายแบบโอนอ่อน หาผู้นำเจรจาฝั่งไทยที่ไม่ต่อต้านทรัมป์ น่าจะดีกว่า แต่การโอนอ่อนนั้น ต้องไม่ใช่การทำให้ประเทศเสียศักดิ์ศรี”
“ความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดหุ้น และราคาสินทรัพย์ทั่วโลกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าเพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าโลก รอบที่ 2 หลังประธานาธิบดีทรัมป์ ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 17 วัน และเริ่มประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าแล้วกับแคนาดา เม็กซิโก ในอัตรา 25% รวมทั้งขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับจีนประมาณ 10%”
อย่างไรก็ตาม สงครามการค้ารอบนี้ต่างจากที่ผ่านมา เพราะจะเป็นสงครามที่คน 1 คนทะเลาะกับคนทั้งโลก ต่างจากหลายครั้งที่เกิดจากหลายประเทศต่างขึ้นภาษีกันและกัน แต่ผลที่เกิดขึ้นจะไม่แตกต่างกัน เพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและสหรัฐฯเอง “4 ปีจากนี้ต้องติดตามคำพูดและการกระทำของทรัมป์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปีแรกจะมีการลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี Executive Order อีกมากมาย และเปิดเจรจาต่อรอง ซึ่งทุกครั้งจะสร้างความผันผวนให้ตลาดเงินและตลาดทุนโลกอย่างมาก”
ภาพรวมประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าต่อไทยไว้ 5 ด้านสำคัญ 1.ด้านการค้า แบ่งเป็นส่วนที่กระทบโดยตรง คือการส่งออกสินค้าจากไทยไปสหรัฐฯ ส่วนที่คิดว่าจะโดนแน่นอนคือสินค้าที่โรงงานจีนมาตั้งในไทยและส่งออกไปสหรัฐฯและทั่วโลก ส่วนที่สองที่จะกระทบคือสินค้าจากจีนขายไปสหรัฐฯได้ลดลง ทำให้ต้องหาที่ขายที่อื่น ทำให้สินค้าจีนส่งออกมาไทยมากขึ้น แข่งกับสินค้าไทยในตลาดไทยและตลาดโลก โดยใช้ไทยเป็นฐานการส่งออก
“จุดนี้จะกระทบผู้ประกอบการไทยมากขึ้นอีก และเมื่อการค้าโลกและเศรษฐกิจหลายประเทศถูกกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ก็ต้องติดตามต่อว่าจะส่งผลกระทบทางอ้อมกับการท่องเที่ยวไทยหรือไม่ในปีนี้”
สำหรับด้านที่ 3 คือการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน ทั้งเงินลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนโดยตรง ที่จะเคลื่อนย้ายจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาษีที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในอาเซียน รวมทั้งประเทศ ไทย ซึ่งจะส่งผลมาถึงด้านที่ 4 คือ ก่อให้เกิดความผันผวนที่สูงขึ้นของราคาสินทรัพย์ ค่าเงิน ราคาทองคำ แม้กระทั่งคริปโตเคอร์เรนซี และด้านที่ 5 คือกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก
“หากเจรจาให้ดี วางแผนรับมือให้ดี ก็มีโอกาส ที่ควรทำคือการวางตัวเป็นกลาง ทำตัวให้เงียบเรียบร้อย เพื่อหลุดจากวงโคจรที่สหรัฐฯมองว่าเป็นประเทศที่ไม่เข้าข้างหรือเอาเปรียบเขา ต้องเน้นการเจรจาต่อรอง ให้ประโยชน์กับสหรัฐฯบ้าง ที่ผ่านมามีบริษัทไทยไปลงทุนในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ซึ่งสหรัฐฯพอใจมาก ขณะเดียวกันต้องหาทางทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ รวมทั้งการเร่งดึงดูดเงินลงทุนโดยตรง”
“เราเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯเป็นอันดับที่ 10 ของโลก หากมองแบบไม่เข้าข้างใคร ไทยน่าจะถูกขึ้นภาษีนำเข้าเช่นกัน ต้องจับตาการประกาศของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงวันที่ 1 เม.ย.2568 ว่า มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าในครั้งต่อไปจะมีไทยด้วยหรือไม่ ส่วนหนึ่งที่เราเกินดุลสหรัฐฯมาจากสินค้าที่จีนมาผลิตในไทย”
นโยบายทรัมป์ 2.0 ยังคงใช้ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสหรัฐฯ มีการใช้ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือในการเจรจา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการเมืองและความมั่นคง เช่น ประเด็นคนลักลอบเข้าเมืองและยาเสพติด รวมถึงความต้องการขยายดินแดนและอิทธิพลไปนอกสหรัฐฯ อาทิ คลองปานามา กรีนแลนด์ และแคนาดา “สหรัฐฯมีแนวคิดที่ว่า แม้ประเทศพันธมิตรก็มีการเอาเปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯมาตลอด การจ้างงานในภาคการผลิต คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และยานยนต์ในสหรัฐฯลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”
หากพิจารณาประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย.2567 จีนแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เกินดุลกว่า 270,000 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยเม็กซิโก มากกว่า 157,000 ล้านเหรียญ และเวียดนามเกินดุลสหรัฐฯ มากกว่า 113,000 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยไอร์แลนด์ เยอรมณี ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และไทย อันดับที่ 10 สหรัฐฯขาดดุลกับเราประมาณ 41,500 ล้านเหรียญ
ผู้ส่งออกไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมคือ กลุ่มสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงและสินค้าเพื่อการสื่อสาร เช่น เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ โซลาร์เซลล์ ปรินต์เตอร์ อะไหล่รถยนต์ หม้อแปลงไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการแข่งขันกับสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่น และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ด้านการส่งออก เราอาจจะแก้ไขได้ยากกว่า อีกกลยุทธ์ของไทยในการรับมือคือต้องทำตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างทั้งจีนและสหรัฐฯ เน้นการเจรจาโดยเร็วที่สุด อาจจะต้องยอมเปิดตลาดให้กับธุรกิจสหรัฐฯมากขึ้น หรือเพิ่มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดการได้ดุลการค้า เช่น เครื่องยนต์ยานพาหนะ เครื่องบิน อุปกรณ์การแพทย์ ฯลฯ นอกจากนี้ หากผลกระทบจากสงครามการค้าขยายวงกว้าง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยเพิ่ม จากที่คาดว่าจะลดลง 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะกระทบเพิ่มเติมต่อตลาดเงิน และการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก.
ทีมเศรษฐกิจ
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม