ถอดบทเรียน “สิงคโปร์”  Financial Hub ไทยพร้อมหรือยัง โอกาสอยู่ตรงไหน?

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ถอดบทเรียน “สิงคโปร์” Financial Hub ไทยพร้อมหรือยัง โอกาสอยู่ตรงไหน?

Date Time: 7 ก.พ. 2568 15:14 น.

Video

คุยกับผู้บริหาร Tinder “ไทยต้นแบบความเท่าเทียมทางเพศ”

Summary

  • Thairath Money ชวนถอดบทเรียนสิงคโปร์ สู่หนทางการเป็นศูนย์กลางการเงิน ไทยพร้อมแค่ไหน มีโอกาสตรงไหนอีกบ้าง

Latest


เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2025 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการของร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน หรือ ร่าง พ.ร.บ. ไฟแนนเชียล ฮับ เพื่อดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) ดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ มูลค่าสูง และสร้างโอกาสจ้างงานให้กับคนไทย

โดยสาระสำคัญของกฎหมายใหม่นี้ คือการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงินให้เป็นหน่วยงานให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Authority) ที่มีอำนาจตั้งแต่ออกใบอนุญาต กำกับดูแล และกำหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งทางภาษีและไม่ใช่ภาษี ให้กับการประกอบธุรกิจการเงิน 8 ประเภท ภายใต้ Financial Hub ได้แก่

  1. ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
  2. ธุรกิจบริการการชำระเงิน
  3. ธุรกิจหลักทรัพย์
  4. ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
  5. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
  6. ธุรกิจประกันภัย
  7. ธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อ
  8. ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงิน

โดยจะต้องจัดตั้งเป็นนิติบุคคลในไทยหรือสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าต่างชาติที่อยู่นอกประเทศไทยเท่านั้น

หลังจากที่ ครม. อนุมัติแล้ว ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะถูกส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแบบเร่งด่วน คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 50 วัน จากนั้นจะส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้หนทางการเป็น "ศูนย์กลางการเงิน" นั้นไม่ง่าย ทั้งฮ่องกงและสิงคโปร์ต้องใช้เวลามากถึง 40-50 ปี เนื่องจากการจะดึงดูดให้นักลงทุนตัดสินใจทำธุรกิจการเงิน ซึ่งมีมูลค่าสูง ประเทศไทยจะต้องมีความพร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน และกฎหมายที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ รวมถึงทักษะแรงงานไทยที่จะต้องพัฒนาให้รองรับกับธุรกิจใหม่ที่จะหลั่งไหลเข้ามา

Thairath Money ชวนถอดบทเรียนสิงคโปร์ สู่หนทางการเป็นศูนย์กลางการเงิน ไทยพร้อมแค่ไหน มีโอกาสตรงไหนอีกบ้าง

เส้นทางสิงคโปร์ สู่ Financial Hub

เส้นทางสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1965 เมื่อสิงคโปร์ประกาศแยกตัวจากมาเลเซีย และมีเอกราชเป็นของตัวเอง ภายใต้การนำของ ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกที่ต้องหาทางรอดให้ประเทศตัวเอง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ตอนนั้นสิงคโปร์เป็นประเทศยากจนที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นของตัวเอง ขาดแคลนน้ำดื่ม ในขณะที่มีประชากรอยู่รวมกันถึงสามเชื้อชาติ แต่มีข้อได้เปรียบคือเป็นเมืองท่า ศูนย์กลางการค้าเก่า เพราะเคยอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษ จึงมีโครงสร้างพื้นฐานระบบการค้า การแลกเปลี่ยนเงินตรา สิงคโปร์จึงตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการเงิน เพื่อนำพาประเทศออกจากความยากจน

ต่อมาในปี 1968 สิงคโปร์ได้จัดตั้ง Asian Dollar Market (ADM) ซึ่งทำให้สกุลเงินสิงคโปร์ดอลลาร์เป็นที่รู้จักมากขึ้น และทำให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราที่ใหญ่ที่สุดในโลก จนดึงดูดให้ธนาคารต่างประเทศเข้ามาตั้งสาขาในประเทศ

เมื่ออุตสาหกรรมการเงินของสิงคโปร์เติบโตอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ในปี 1971 จึงจัดตั้งธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เพื่อเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการเงิน และวางนโยบายขับเคลื่อนสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก

ต่อมาในปี 1973 จึงได้จัดตั้ง Stock Exchange of Singapore หรือตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เพื่อรองรับการระดมทุนของบริษัทต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามา ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น Singapore Exchange (SGX)

ช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากการขึ้นของธนาคารกลาง (MAS) และตลาดหลักทรัพย์ (SGX) สิงคโปร์ได้กลายเป็นศูนย์กลางการจัดการสินทรัพย์ชั้นนำของเอเชียตั้งแต่นั้นมา โดยในปี 2015 สินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ในสิงคโปร์มีมูลค่า 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนหน้า โดยขณะนั้นมีผู้จัดการกองทุนที่จดทะเบียนและได้รับอนุญาตทั้งหมด 628 ราย

ในช่วงทศวรรษ 2000 สิงคโปร์ได้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การเป็นศูนย์รวมของสตาร์ทอัพจำนวนมากผสานเข้ากับเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคการเงิน นำไปสู่การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรม Fintech ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Smart Nation ของสิงคโปร์ที่ต้องการผสานเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ากับนโยบายรัฐ เพื่อค้นหาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่จะเป็น New Growth Engines ให้กับเศรษฐกิจ หลังจากนั้นสิงคโปร์ได้วางตำแหน่งตัวเองเป็นศูนย์รวมบริษัทฟินเทคสตาร์ทอัพและพื้นที่ทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ อีกทั้งการสนับสนุนจากธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ที่มีโครงการแซนด์บ็อกซ์และเงินช่วยเหลือ ส่งเสริมให้ระบบนิเวศฟินเทคเติบโตอย่างรวดเร็ว

เปิดจุดเด่นฮับการเงิน "สิงคโปร์"

1. โครงสร้างพื้นฐานพร้อม Regulator มีวิสัยทัศน์

สิงคโปร์ขึ้นชื่อว่ามีสภาพแวดล้อมการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการทำธุรกิจอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนทั้งสินทรัพย์และขยายธุรกิจในสิงคโปร์ โดยเฉพาะภาคการเงินที่เป็นศูนย์รวมของฟินเทคและบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี โดยมีธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ทำหน้าที่กำกับดูแล พิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจการเงิน รวมถึงช่วยกำหนดกลยุทธ์ขับเคลื่อนสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการเงินระดับโลก ซึ่งช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถจัดตั้งการดำเนินงานในประเทศได้สะดวกและรวดเร็ว

ทั้งนี้การขอใบอนุญาตสำหรับการประกอบธุรกิจการเงินทุกประเภท เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน และบริการชำระเงิน ส่วนใหญ่ใช้เวลาดำเนินการเพียง 6 สัปดาห์ถึง 4 เดือน นอกจากนี้ธนาคารกลางสิงคโปร์ยังจัดตั้งกองทุนพัฒนาภาคการเงินขึ้น เพื่อให้แรงจูงใจทางภาษี รวมถึงให้เงินช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินเพื่อจัดตั้งหรือขยายธุรกิจในภูมิภาค ปัจจุบันธุรกิจการเงินจะได้รับการลดหย่อนภาษีที่อัตรา 5% 10% 12% และ 13.5% ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ ภายใต้แผนแรงจูงใจทางภาษีสำหรับภาคการเงิน (Financial Sector Incentive (FSI) Scheme: FSI)

2. เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการเงิน

ด้วยความที่สิงคโปร์มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการเงินและการกำกับดูแลที่เข้มงวดและโปร่งใสจากธนาคารกลางสิงคโปร์ ประกอบกับเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีความมั่งคั่งสูง ทำให้มหาเศรษฐีทั่วโลกพากันย้ายสินทรัพย์มาเก็บรักษาความมั่งคั่งไว้ในสิงคโปร์ สะท้อนจากการเติบโตของจำนวนสำนักงานครอบครัว (Family office) ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม 2566 มีการจัดตั้งสำนักงานครอบครัวไปแล้ว 1,650 แห่ง และนับตั้งแต่มีการจัดตั้งสถาบันบริหารความมั่งคั่ง ปัจจุบันสิงคโปร์มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มูลค่า 5.4 ล้านล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 4.65 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2546

3. เต็มไปด้วยแรงงานทักษะสูง

กุญแจสำคัญดอกสุดท้ายที่ทำให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก คือ การมีแรงงานทักษะสูงจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคการเงิน สะท้อนจากการจัดอันดับ World Competitiveness 2024 ซึ่งสิงคโปร์ครองอันดับแรก เช่นเดียวกับผลการสอบ PISA ชี้ให้เห็นถึงคุณภาพและความแข็งแกร่งของระบบการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานของการผลิตแรงงานที่มีคุณภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานที่มีทักษะดังกล่าวจะมีอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางสิงคโปร์จึงได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาทักษะภาคการเงิน โครงการฝึกอบรมทางการเงิน โครงการฝึกอบรมมาตรฐานสถาบันการธนาคารและการเงิน และโครงการทุนการศึกษาทางการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญในภาคการเงิน

HSBC แนะไทยอยากเป็นฮับการเงิน ต้องเร่งปั้นคนเก่งการเงิน

เฟรดเดอริค นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัย ประจำภูมิภาคเอเชีย ธนาคารเอชเอสบีซี(HSBC) ให้ความเห็นว่า ความมุ่งหมายเป็นศูนย์กลางการเงิน หรือ Financial Hub ของประเทศไทย ควรเริ่มต้นจากการลดระเบียบข้อบังคับ เพื่อดึงดูดสถาบันการเงินต่างชาติและองค์กรต่างๆ ให้มาตั้งสำนักงานที่ประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายหรือลดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงิน แต่ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ความพร้อมของทรัพยากรบุคคลในประเทศ และความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานของบุคลากรชาวต่างชาติ 

โดยเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์และฮ่องกงที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการสร้าง Financial Hub ก็มาจากความสามารถในการดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลก และการอำนวยความสะดวกในการย้านถิ่นฐานและค่าใช้จ่ายไม่สูง รวมถึงเรื่องอัตราภาษีที่แข่งขันได้สำหรับคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย การให้ความสะดวกเรื่องที่พัก เรื่องวีซ่า 

ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างศูนย์กลางการเงินและดึงคนเก่งจากทั่วโลก ซึ่งทั้งไต้หวันและเกาหลีก็พยายามทำเรื่องนี้อยู่

ที่มา NUS

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ