ไม่เสียชื่อแชมป์ “นักดื่ม” แห่งเอเชีย เมื่อคนไทยยังบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับพันๆ ล้านลิตรต่อปี โดยข้อมูลของวิจัยกรุงศรีฉบับล่าสุดเผยให้เห็นถึงปริมาณการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ว่ามีจำนวนรวมกันอยู่ที่ 2,965.9 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 16,268.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยผลิตภัณฑ์หลักเป็น “เบียร์” ซึ่งมียอดจำหน่าย 2,181.6 ล้านลิตร คิดเป็น 73.5% ของปริมาณจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สุรา (24.5%) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม (1%) ไวน์ (0.9%) และน้ำผลไม้ที่ผ่านกระบวนการหมักหรือบ่มกับยีสต์ (0.1%) ตามลำดับ
เจาะเฉพาะตลาดเบียร์ ปี 2566 ปริมาณยอดขายเพิ่มขึ้น 8.2% ส่วน 9 เดือนแรกของปี 2567 ยอดขายขยายตัวต่อเนื่อง 6% ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ปริมาณยอดขายเบียร์ทั้งปีนี้จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 6-7%
ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ภาคท่องเที่ยวคึกคักแล้ว ยังมาจากผู้ผลิตเบียร์มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์, เบียร์กลิ่นผลไม้, เบียร์คราฟต์, และเบียร์แคลอรี่ต่ำ
“การพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ที่มีแอลกอฮอล์และพลังงานลดลง รวมถึงการพัฒนาเบียร์คราฟต์ที่มีรสชาติหลากหลายมากขึ้นช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคที่มองหาตัวเลือกที่แตกต่างและมีความหลากหลาย”
ขณะเครื่องหมายการค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกือบ 90% ตามปริมาณการขายสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่
- ลีโอ
- ช้าง
- สิงห์
ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเข้ามาของผู้ผลิตรายใหม่อย่าง “คาราบาว” ที่เพิ่งเปิดตัวเบียร์สไตล์เยอรมัน
อย่างไรก็ดี การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ถูกประเมินว่าอาจกดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ผลิตเบียร์ในอนาคตได้
ทั้งนี้ ข้อมูลดัชนีเบียร์โลกเมื่อประจำปี 2564 เผยว่า ประเทศไทย คนไทยคว้าอันดับ 1 ในฐานะดื่มเบียร์และจ่ายค่าเบียร์มากที่สุดในเอเชีย ขณะตลาดเบียร์ปัจจุบันมีมูลค่าสูงอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 5-6% ต่อปี และเคยทำมูลค่าสูงสุด 3 แสนล้านบาทช่วงปี 2562 ขณะที่ยอดใช้จ่ายไปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากสถิติปี 2564 ตัวเลขอยู่ที่ 1,677 บาท/คน/เดือน เรียกว่าติดท็อปอันดับโลกเลยทีเดียว
ที่มา : วิจัยกรุงศรี