แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดสำหรับโผคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของเมืองไทย
แต่เสียงที่มาก่อนกาลคือการให้ “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” เร่งจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพื่อเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประเทศเป็นอันดับแรก ก่อนที่ “นักลงทุนต่างชาติ” จะหนีเตลิดไปมากกว่านี้ เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง ไร้เสถียรภาพ และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย ๆ ยิ่งซ้ำเติมความเชื่อมั่นให้ถดถอยลงไปอีก
ประเด็นดังกล่าว รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง ระบุ ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากปัญหาความไม่ต่อเนื่องของการบริหารและนโยบายของรัฐบาลที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งของประเทศไทย ทำให้นักลงทุนระยะยาวลังเลในการตัดสินใจลงทุน
พร้อมประเมินว่า หากนายกฯ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ความล่าช้าในการพิจารณางบประมาณปี 2568 อาจเกิดขึ้นอีกแน่ ซึ่งย่อมส่งผลต่อการขยับโครงการลงทุนภาครัฐและนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลต้องช้าออกไป
ขณะเดียวกัน ก็อาจมีมาตรการและนโยบายบางส่วนถูกทบทวนหรือยกเลิกไป อย่างเช่น นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต และให้เช่าที่ดิน 99 ปี เป็นต้น
“ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามบริบทประชาธิปไตยแบบไทย ๆ สร้างความเสี่ยงต่อการลงทุนระยะยาวของต่างชาติ หรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบรรษัทชาติก็ตัดสินใจเลือกไปลงทุนประเทศอื่นแทน จากความไม่แน่นอนทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่พร้อมของทุนมนุษย์ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้ ยังต้องจับตามองบุคคลภายใต้ “ทีมเศรษฐกิจ” ของ ครม.ชุดใหม่อีกด้วย ว่าจะมีใครบ้าง เพราะขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ โอกาสที่จีดีพีไทยปี 2567 โตเกิน 3% นั้น เป็นไปไม่ได้แล้ว
อีกทั้ง การเร่งใช้จ่ายงบลงทุน งบประมาณปี 2567 ให้เบิกจ่ายในระดับ 75% ขึ้นไป ก็แทบเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก สำหรับรัฐบาลรักษาการ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็ต้องใช้อีกอย่างน้อย 1-2 เดือน
สำหรับปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วนในมือของรัฐบาลชุดใหม่ หรือ ครม.อุ๊งอิ๊ง 1 นั้น รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า นอกจากความเสี่ยงทางการเมืองจะกดทับความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนแล้ว
เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเจอกับภาวะ “เงินฝืด” จากปัญหาความต้องการซื้อสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจลดลง สังเกตจาก “เงินเฟ้อ” โตต่ำ
รวมไปถึงต้องเฝ้าจับตาทิศทางราคาน้ำมัน อาจพุ่งขึ้นจากสงคราม ราคาสินค้าเกษตรและอาหารอาจปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่
เช่นเดียวกับวิกฤติหนี้สิน การปิดโรงงานและการเลิกจ้างในบางอุตสาหกรรมจะยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ นอกจากนี้ ไทยอาจเผชิญ “ภาวะสมองไหล” มีแรงงานทักษะสูงความรู้สูง นักวิชาชีพต่าง ๆ ออกไปทำงานและตั้งถิ่นฐานในประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้น นอกจากเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นผลจากความไม่พอใจต่อสภาพสังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อมไทยอีกด้วย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney