ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค.67 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เปิดแถลงข่าว โครงการ “Ignite Finance” ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก (Thailand Financial Center) โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การสร้างประเทศให้ไทยเป็นศูนย์กลางสำคัญด้านการเงินการลงทุนและการธนาคาร ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของประเทศ และการพัฒนากฎหมายการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้จะดึงดูดเงินทุนต่างชาติและผู้เชี่ยวชาญ ที่มีทักษะสูงมายังไทย ทั้งนี้ โครงการ Ignite Finance ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก มีความมุ่งหวังที่จะสร้างระบบนิเวศน์ ที่ผู้ประกอบการระดับโลกและวิสาหกิจเริ่มต้นและคนที่มีแนวคิด มารวมตัวกันเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยี ภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต
“เมื่อไทยเริ่มต้นก้าวสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก ประเทศพร้อมจุดประกายอนาคตแห่งความรุ่งเรือง นวัตกรรม และการเป็นผู้นำด้านการเงิน ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เราจะสร้างศูนย์กลางการเงินทัดเทียมกับที่อื่นๆในโลก”
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและเต็มไปด้วยนวัตกรรม เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีการเงินโลก
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินโลกได้นั้น ต้องเน้นการประกอบธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจประกันภัย และต้องผลักดันผ่าน 3 กุญแจสำคัญ ได้แก่ 1.กฎหมายธุรกิจการเงินใหม่ ด้วยที่มีความยืดหยุ่น โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ สร้างกรอบการกำกับดูแลแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การขอใบอนุญาตจนถึงการกำกับดูแลมีประสิทธิภาพ และให้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ เพื่อขยายขอบเขตและบทบาทของภาคการเงินของไทยในเวทีโลก
“การออกกฎหมายใหม่ ให้หน่วยงานมีอำนาจออกใบอนุญาต หลักเกณฑ์ เพื่อดึงธุรกิจยุทธศาสตร์จากต่างชาติเข้ามาในประเทศ ดึงเม็ดเงินใหม่ที่กระจายอยู่ทั่วโลกเข้ามาในไทย โดยทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ถือเป็นการพลิกโฉมนโยบายระบบสถาบันการเงิน ด้วยการริเริ่มนโยบายระบบสถาบันการเงินภายในประเทศที่สำคัญ”
กุญแจที่ 2.คือ สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ จะสร้างให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกแรก ที่สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการทางการเงินเลือกที่จะมาตั้งสาขาและประกอบธุรกิจ รวมถึงการจัดตั้งบริษัทและการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การให้วีซ่าทำงานแก่บุคลากรและวีซ่าครอบครัว การจัดเก็บภาษีที่เทียบเท่ากับศูนย์กลางการเงินอื่น เพิ่มแรงจูงใจอื่น เช่น เงินสนับสนุน กุญแจที่ 3.ระบบนิเวศน์แห่งอนาคต การพัฒนากรอบกฎหมายที่เข้มแข็งและโปร่งใส ที่จะเป็นพื้นฐานในการทำธุรกิจทางการเงิน เหมือนที่ไทยออกกฎหมายว่าด้วยการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยเพื่อสนับสนุนธุรกิจและคุณภาพชีวิตของบุคลากร
นายเผ่าภูมิกล่าวต่อว่า รัฐบาลยังมีนโยบายจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) หรือนัคกา ที่จะเป็นนวัตกรรมใหม่ในการค้ำประกันความเสี่ยงสินเชื่อ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม และเพิ่มการเข้าถึงการเงินของประชาชนและเอสเอ็มอี เพื่อให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพ มั่นคงและตอบโจทย์ประชาชน โดย NaCGA จะมีขนาดใหญ่ โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรนี้ ซึ่งเป็นการค้ำประกันครบวงจร โดย NaCGA จะทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงของลูกค้า และคิดค่าธรรมเนียมตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล แต่สิ่งที่ประชาชนต้องจ่ายจะน้อยมาก เพราะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ประชาชนได้ คือ การการันตีความเสี่ยงทางการเงิน และกระทรวงการคลัง จะพลิกโฉมนโยบายระบบสถาบันการเงิน โดยร่วมกับ ธปท. ออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อให้มีการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ด้วย “ทั้งกฎหมายธุรกิจการเงินใหม่และการตั้ง NaCGA คลังอยู่ระหว่างเสนอครม.เพื่อเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการออกกฎหมาย คาดว่าปี 68 จะมีความชัดเจนขึ้น”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่