ไทยดักจับคลื่นการลงทุนครั้งใหญ่ อุตสาหกรรมโลกโยกย้ายฐานการผลิต

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไทยดักจับคลื่นการลงทุนครั้งใหญ่ อุตสาหกรรมโลกโยกย้ายฐานการผลิต

Date Time: 6 พ.ค. 2567 05:45 น.

Summary

  • ประเทศไทยที่พยายามดึงดูดการลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกจะมีโอกาสช่วงชิงคลื่นการโยกย้ายอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ในรอบนี้ได้ดีเพียงใด “ทีมเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้สัมภาษณ์ “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงความพร้อม โอกาสและศักยภาพของไทยในห้วงเวลานี้

Latest

ท่องเที่ยว-ค้าที่ดิน-อสังหาฯ Top 3 ธุรกิจแฝง “นอมินี” ต่างชาติใช้คนไทยเปิดบริษัท

โจทย์ข้อใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมโลกในปัจจุบันได้รับผลจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ว่าจะเป็น สงครามการค้า สงครามทางทหาร และสงครามเทคโนโลยีที่กระทบกับห่วงโซ่การผลิต

ทำให้มีการปรับโครงสร้างการผลิตครั้งใหญ่ของภาคอุตสาหกรรม ที่จะต้องโยกย้ายฐานการผลิต ณ ตอนนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เกิดขึ้นในรอบ 30 ปี

ในขณะเดียวกัน การกำหนดกติกาใหม่ๆของโลกที่มีความเข้มข้นในเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และใช้พลังงานสะอาด

ประเทศไทยที่พยายามดึงดูดการลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกจะมีโอกาสช่วงชิงคลื่นการโยกย้ายอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ในรอบนี้ได้ดีเพียงใด “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้สัมภาษณ์ “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงความพร้อม โอกาส และศักยภาพของไทยในห้วงเวลานี้

ยืนยันประเทศไทยมีศักยภาพ

“นฤตม์” กล่าวยืนยันว่า นักลงทุนต่างชาติมองว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพ มีความพร้อมและเหมาะต่อการลงทุนในระยะยาว และสามารถตอบโจทย์ทิศทางใหม่ๆของโลกได้ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพที่สุดประเทศหนึ่งในอาเซียนพร้อมรองรับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค ระบบโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อีกทั้งมีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีทักษะสูง ที่จะรองรับอุตสาหกรรมในอนาคตได้

ขณะเดียวกัน หลายบริษัทในโลกมีเงื่อนไขใช้พลังงานสะอาด 100% ในกิจการและปรับเปลี่ยนสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การปรับตัวกระบวนการผลิต การใช้พลังงาน ไปจนถึงโลจิสติกส์ มีการปรับไปสู่ทิศทางที่เป็น Green มากขึ้น ในแง่การลงทุนบริษัทเหล่านี้ก็ต้องหาแหล่งลงทุนที่มีพลังงานสะอาดเพียงพอ เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องนี้ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อม

นอกจากนี้ มีกติกาภาษีใหม่ของโลกที่เรียกว่า Global Minimum Tax (GMT) ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ The Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) บังคับให้บริษัทข้ามชาติที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโร หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเงินได้ขั้นต่ำ 15% โดยประเทศปลายทางมีสิทธิ์เก็บก่อน ทำให้มาตรการดึงดูดการลงทุนด้วยวิธีการยกเว้นภาษีเงินได้มีความสำคัญลดลง ฉะนั้น บริษัทต่างๆ จะหาแหล่งลงทุนที่มีสิทธิประโยชน์อื่นๆมาทดแทนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินลงทุน ความพร้อมอื่นๆ เช่น ความสะดวกในการลงทุน บุคลากรโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไทยมีความพร้อม

ที่สำคัญประเทศไทยมีซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ค่อนข้างจะครบวงจร และแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค อีกทั้งมีความปลอดภัยในการลงทุน โดยเฉพาะในภาวะที่โลกมีความขัดแย้งมากๆ ไทยไม่มีความขัดแย้งกับประเทศอื่น จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้นักลงทุนมองมาที่ประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ศักยภาพด้านพลังงานของประเทศไทย มีความเสถียรของระบบไฟฟ้า มีแหล่งพลังงานสะอาดที่มากเพียงพอที่จะป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรม และกำลังจะมีกลไกใหม่ที่เรียกว่า Utility Green Tariff เป็นกลไกการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคธุรกิจ เป็นระบบรวบรวมแหล่งพลังงานสะอาด ที่ระบุผู้ผลิตได้ชัดเจน กำลังจะเริ่มใช้ในเร็วๆนี้ นับเป็นอาวุธใหม่สำหรับบริษัทชั้นนำที่กำลังตามหาฐานการผลิตใหม่ที่มีพลังงานสะอาดป้อน

5 อุตสาหกรรมสร้างจุดเปลี่ยน

ปัจจัยที่สำคัญก็คือนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อต่อการลงทุนของธุรกิจ จะเห็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยมีความต่อเนื่อง และเป็นนโยบายที่ quick win ต่อการลงทุน ประกอบกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะไปโรดโชว์ด้วยตัวเอง ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น ได้เห็นความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการดึงการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นการส่งสัญญาณที่เป็นบวก และนักลงทุนได้มีโอกาสฟังนโยบายของรัฐบาล จากนายกรัฐมนตรีที่เป็นเบอร์หนึ่งของประเทศโดยตรง ทำให้ประเทศไทยกลับมาอยู่บนจอเรดาร์ของการลงทุนโลก

“ปัจจัยทั้งหมดนี้ ทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่น และนักลงทุนมองว่าไทยมีศักยภาพ มีความพร้อมตอบโจทย์รองรับการลงทุนได้ ผมเองมองว่าช่วง 2 ปีจากนี้ไปเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยในรอบ 30 ปีที่แล้ว ในยุค 1990 ที่มีข้อตกลงพลาซ่าแอคคอร์ด ทำให้ญี่ปุ่นออกมาลงทุนนอกประเทศอย่างมาก และเลือกไทยเป็นหลัก ทำให้การลงทุนเข้าสู่ประเทศไทยอย่างมาก”

วันนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งที่ต้องช่วงชิงโอกาสตอนนี้ ในการเปิดรับคลื่นการลงทุนลูกใหญ่และจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะใน 5 สาขาหลักที่จะเป็น Game Changer ของประเทศไทย และเป็นสาขาที่สอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบาย IGNITE Thailand ยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ขณะนี้มี 5 อุตสาหกรรมใหม่ ที่เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย ซึ่งเป็น New S-Curve อย่างแท้จริง ประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล พลังงานใหม่ และสำนักงานภูมิภาค (Reginal Head Quather) ซึ่งทั้งหมดกำลังเข้ามาในประเทศไทย

ค่ายรถอีวีจีนลงทุนแล้ว 8 ราย

เริ่มจากรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ประเทศไทย ไทยมีการส่งเสริมสร้างฐานการผลิตและทำมาอย่างต่อเนื่อง 2 ปีที่ผ่านมา มีมาตรการออกมาอย่างครบวงจร ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่แค่ให้การผลิตรถยนต์เท่านั้นแต่ให้ครอบคลุมอีโคซิสเต็มส์ของรถยนต์อีวี เช่น แบตเตอรี่ชิ้นส่วนสำคัญ สถานีชาร์จไฟฟ้า กระตุ้นการสร้างตลาดในประเทศ ล่าสุดก็ได้ทำไปถึงรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ใช้ไฟฟ้าทั้งรถบัสและรถบรรทุก มาจนถึงปัจจุบันส่งผลให้อัตราการใช้รถยนต์อีวีของไทยสูงที่สุดในภูมิภาค เมื่อปีที่แล้วมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 76,000 คัน สำหรับ 3 เดือนแรกของปีนี้ประมาณ 22,000 คัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 25% ของรถยนต์ทั้งหมด

ในแง่การลงทุนวันนี้ชัดเจนบริษัทผลิตค่ายรถยนต์รายใหญ่จากจีนได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแล้ว 8 ราย ประกอบด้วย BYD, MG, Great Wall Motor, Changan Automobile, GAC Aion, NETA, Foton และล่าสุด Chery

ขณะที่ค่ายรถยนต์ที่เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ในไทย ตั้งแต่ต้นปี 2567 ได้แก่ Great Wall Motor, Neta, MG ค่ายที่อยู่ระหว่างเตรียมการจะเริ่มผลิตภายในปีนี้ ได้แก่ BYD, Aion ส่วน Changan จะเริ่มผลิตต้นปี 2568

ขณะเดียวกัน บีโอไอไม่ได้อยู่เฉย พยายามเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้มาอยู่ในซัพพลายเชนของการผลิตรถยนต์อีวี และให้ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ โดยค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในฟรีเทรดโซน มีเงื่อนไขบังคับต้องใช้ชิ้นส่วนในประเทศอย่างน้อย 40% ในช่วง 2 ปีแรกกระทรวงการคลัง ให้นับแบตเตอรี่ 15% เท่ากับบริษัทรถยนต์ต้องหาชิ้นส่วนเพิ่มเติมอีก 25% แต่มาตรการนี้จะสิ้นสุดในสิ้นปี 2568 เลยโยงมาถึงโครงการที่บีโอไอไปดึงการลงทุนผู้ผลิต แบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง อีกทั้งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมาลงทุนอย่างน้อย 2 บริษัท รวมวงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท

“เราไม่ได้หยุดแค่นี้ จากนี้ไปเราจะเดินหน้าในการกระตุ้นบริษัทรถยนต์รายเดิมที่อยู่ในเมืองไทย แล้วให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้สำเร็จให้ได้”

อย่างเช่น ให้ค่ายญี่ปุ่นเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์อีวี และเดินหน้าดึงผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่เข้ามาลงทุนในไทย อีกทั้งเพื่อทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน จึงต้องทำให้ซัพพลายเชนรถยนต์อีวีแข็งแกร่ง ทั้งการสร้างฐานการผลิตแบตเตอรี่ในไทย ตลอดจนชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ เช่น มอเตอร์ขับเคลื่อน, ระบบ
บริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS), ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU), อินเวอร์เตอร์ รวมทั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า

อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำมาแล้ว

อุตสาหกรรมถัดมา คือ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการเป็นฐานการผลิตมายาวนานตอนนี้เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ระดับโลก ที่ทุกประเทศต้องการแย่งชิงการเป็นฐานการผลิต แต่ประเทศไทยมีจุดแข็ง โดยปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แบบต้นน้ำที่ล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น ชิปต้นน้ำ (Wafer Fab), การออกแบบวงจร (IC Design) ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมี, การทดสอบชิป (IC & Wafer Testing), ศูนย์วิจัยและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ ที่จะมีการจ้างนักวิจัยมากกว่า 500 คน, การประกอบวงจรเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced OSAT) และคลัสเตอร์แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB)

“ในโลกนี้เจ้าตลาดใหญ่สุด คือ ไต้หวันครองตลาด 60% เดิมฐานหลักไต้หวันอยู่ที่จีน แต่วันนี้ไต้หวันขยายมาที่ประเทศไทยเป็นหลัก บริษัท Top 20 ของไต้หวันมาอยู่ที่เมืองไทยแล้ว 10 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างการพูดคุย และกำลังทยอยตามมา และมีซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องมาด้วยอีกจำนวนมาก วันนี้พูดได้ว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตพีซีบีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จะเสริมความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไทย จากเดิมเรามีอุตสาหกรรมนี้ในระดับกลางน้ำ ปลายน้ำ แต่ครั้งนี้เรากำลังจะมีฐานใหม่ของอุตสาหกรรมต้นน้ำ จึงเป็นยุคใหม่ของอิเล็กทรอนิกส์อย่างแท้จริง ที่สามารถต่อยอดกับอุตสาหกรรมอื่นๆได้อีกเยอะ เช่น รถยนต์ ดิจิทัล
เครื่องมือแพทย์เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ”

ดิจิทัล-พลังงานใหม่-สำนักงานภูมิภาค

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า อุตสาหกรรมต่อมา คือ ดิจิทัล เนื่องจากการเติบโตของ AI กับการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้มีความต้องการดาต้าเซ็นเตอร์ เนื่องจากบริษัทต่างๆล้วนแล้วแต่เอาข้อมูลไว้บนคลาวด์ ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามดึงบริษัทระดับโลกให้เลือกประเทศไทยเป็นฐานของดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์ เซอร์วิส ขนาดใหญ่ ที่จะมาพร้อมกับความร่วมมือในการยกระดับประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล มาช่วยภาครัฐทรานส์ฟอร์มยกระดับภาคการศึกษา ภาคการเกษตร ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้นอกจากอเมซอน เวปต์ เซอร์วิส ที่เข้ามาแล้ว รัฐบาลยังพยายามดึงมาไม่ว่าจะเป็น Google, Microsoft ที่กำลังพิจารณา

ขณะเดียวกัน กลุ่มที่สี่ คือ พลังงานใหม่ เรากำลังก้าวออกจากยุคฟอสซิล ไปโฟกัสที่พลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล มองไปใน อนาคตเราจะมีพลังงานใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหลายประเภทตอนนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราต้องทำให้ไทยเป็นฐานของพลังงานใหม่ เช่น ไฮโดรเจน น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน เทคโนโลยีการจัดเก็บคาร์บอน ระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มเดินหน้าเรื่องนี้แล้ว

สาขาสุดท้ายคือการดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเลือกมาตั้งสำนักงานภูมิภาค หรือ Regional Headquarters ในประเทศไทย ได้ส่งเสริมไปแล้ว 500 โครงการ โดย 40% เป็นบริษัทญี่ปุ่น ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ จังหวะนี้ไทยมีโอกาสสูง บรรดาสำนักงานภูมิภาคมองประเทศไทย ที่มีความได้เปรียบในเรื่องของประเทศมีความน่าอยู่ มีบุคลากรที่มีความสามารถ มีต้นทุนที่เหมาะสม จุดแข็งอีกอย่าง คือ ไทยเป็นฐานการผลิตหลักอยู่แล้ว เมื่อบริษัทชั้นนำมีศูนย์การผลิตอยู่ในประเทศไทย ก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะดึงเอาสำนักงานภูมิภาคมาตั้งในไทยด้วย

เป้าหมายตอนนี้บีโอไอจะเน้นบริษัทที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะ Top 100 บริษัทที่มีการลงทุนในขนาดใหญ่ในเมืองไทยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นบริษัทญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากกิจการนี้ คือ มาสร้างงานมูลค่าสูงให้กับคนไทยจำนวนมากและมาพร้อมกับความรู้ เทคโนโลยี ขณะที่ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยก็จะมาจับจ่ายใช้สอยจำนวนมากก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

“ทั้ง 5 อุตสาหกรรมนี้ มีความคืบหน้าในการขยายการลงทุน เข้ามาในประเทศไทยอย่างชัดเจน เหล่านี้คือ อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น S–Curve ของจริง ที่จะสร้างผลต่อเนื่องให้ประเทศไทยโชติช่วงชัชวาลไปในอีกหลาย 10 ปีข้างหน้า”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ