นับเป็นการแถลงข่าวครั้งใหญ่ และเป็น “มาตรการแก้หนี้” ล่าสุด ที่รัฐบาล ชูว่า นี่คือ “วาระแห่งชาติ” ที่จะช่วยให้ประชาชนคนไทยลืมตาอ้าปากได้ และสามารถ “แก้หนี้” ทั้งระบบได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะ หนี้นอกระบบ ที่เป็นก้อนใหญ่สุด และมีความซับซ้อนอยู่มาก
ขณะหนี้ในระบบ ไม่เพียงมีแต่ หนี้ข้าราชการ, หนี้ครู, หนี้ตำรวจ และหนี้ผู้ประกอบการ SME และ หนี้ กยศ. เท่านั้น แต่ยังหนี้อื่นๆ อีกมาก ทำให้ต้องเร่งหาทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรรมอย่างจริงจัง ผ่านมาตรการแก้หนี้ต่างๆ ที่ได้ทยอยออกมาก่อนหน้านี้แล้ว
อีกทั้ง นายกฯ ยังเคยชี้ว่า นี่เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท กลายเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่รัฐบาลต้องทำให้สำเร็จ ภายใต้ สภาพัฒน์ฯ เพิ่งเผยว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ล่าสุด พุ่งมาอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
ThairathMoney เกาะติด เนื้อหาสาระ ของมาตรการการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่ง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงต่อสื่อมวลชน เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ผ่านมา มาให้ติดตามเบื้องต้น ก่อนที่ มีรายงานว่า วันที่ 1 ธ.ค. 2566 กระทรวงมหาดไทยจะเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน ขอรับการช่วยเหลือแก้หนี้ที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th
นายกฯ แถลงว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ กัดกร่อนสังคมไทย มาเป็นเวลานาน และเป็นปัญหาที่สร้างความเดือนร้อน ให้แก่ประชาชนอย่างมาก โดยรัฐบาลมีความตั้งใจอยากจะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง เพื่อเรียกคืน ชีวิตความเป็นอยู่ และคืนศักดิ์ศรี ให้กับพี่น้องคนไทยทุกคน
โดยจะมีฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นส่วนงาน ที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ และตำรวจ ที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกันให้สำเร็จ เพราะการแก้ไขหนี้ ไม่ใช่เพียงแต่จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่คนไทยในระดับครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังจะเป็นจุดเริ่มต้น ในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาค อีกด้วย
ทั้งนี้ ต้องกล่าวว่า หนี้เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ ตามข้อมูลที่ได้รับรายงาน ตัวเลขหนี้นอกระบบ อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท แต่ประเมินจากสถานการณ์ ตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้มาก
“คนที่ไม่ได้เป็นหนี้ อาจไม่เข้าใจ ว่าทำไมรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ข้อเท็จจริง อยากชี้แจงว่า หนี้นอกระบบ กระทบต่อทุกคน เป็นส่วนทำให้ระบบเศรษฐกิจเปราะบาง บางคนใช้หนี้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด ทำให้ปิดโอกาสต่อยอด ไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ เป็นโดมิโนเอฟเฟกต์ไปทุกภาคส่วน”
นายกฯ ระบุอีกว่า หนี้สิน เป็นเรื่องใหญ่ พรากความฝันไปจากผู้คน ทำให้รัฐบาลต้องเร่งบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อต่อสู้กับเรื่องนี้ และมีเป้าหมาย เพื่อไม่ให้คนไทย กลับไปอยู่ในวงวนของการเป็นหนี้อีก
ส่วนมาตรการแก้หนี้ล่าสุดของรัฐบาลนั้น รัฐบาลจะเข้าไปเป็นตัวกลางสำคัญ ตั้งแต่ การทำสัญญาที่เป็นธรรมระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ไปจนถึง กระบวนการไกล่เกลี่ย ปิดหนี้ เพื่อจบปัญหาที่ลูกหนี้หลายคนกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็น แก๊งทวงหนี้โหด หรือการถูกขูดดอกเบี้ยโหด เป็นต้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้น เดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ ตำรวจ และกระทรวงมหาดไทย ไปทำงานร่วมกันมา เพื่อผลักดัน มาตรการแก้หนี้ ให้เกิดขึ้น และสามารถใช้แก้ปัญหาได้อย่างต่อเนื่องนั้น มีความคืบหน้า
ซึ่งจะมีการจัดทำฐานข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อใช้ในการจัดระบบหนี้ อีกทั้งประชาชนเอง จะสามารถเข้าถึงข้อมูลของตัวเองได้ หรือติดตามผลการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ผ่านการสื่อสารความคืบหน้าอย่างตรงไปตรงมา
ขณะที่รัฐ จะมีกระบวนการถ่วงดุล และกระบวนการไกล่เกลี่ย เป็นตัวกลางที่สำคัญให้ ไม่ว่าจะเป็นกรอบเวลาที่ชัดเจนในการแก้หนี้ของแต่ละบุคคล เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีกระทรวงการคลัง จะรับไม้ต่อเข้ามาดู ทั้งมูลหนี้ และระยะเวลา อีกทั้ง ห้ามเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม จะมีการแถลงรายละเอียดมาตรการแก้หนี้ดังกล่าว อีกครั้ง ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เพื่อปลดปล่อย ประชาชนจากทาสหนี้ ซึ่งนายกฯ ยังเน้นย้ำว่า ด้วยเศรษฐกิจที่กำลังจะดีขึ้น ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าเดิม พร้อมๆ กับมาตรการดังกล่าว จะทำให้ประชาชนไม่ต้องกลับเป็นหนี้อีก
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือราชการ สั่งการให้ทุกจังหวัด อำเภอ และสำนักงานเขต ดำเนินการตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ" ประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือ หรือให้ทางราชการแก้ไขปัญหา เตรียมลงทะเบียนในระบบ
โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนแก้หนี้กับรัฐบาลได้ด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th ส่วนกรณี หากไม่สามารถดำเนินการได้เองทางระบบออนไลน์ได้ สามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเอง กรณีอยู่ในพื้นที่อำเภอให้ลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ และหากอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ลงทะเบียนที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง