เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพระราชพิธีของพระมารดา “สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2” เมื่อ 70 ปี ก่อนหน้า เป็นพระราชพิธีที่ถูกย่อส่วนลงจากจำนวนแขกที่น่าจะสูงถึง 5,000 คน ในงานของพระราชินีเอลิซาเบธลดเหลือ 2,300 คน ที่ได้รับ เชิญร่วมพิธีในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ตลอดจนระยะเวลาในการประกอบพิธีที่ย่อเหลือ 2 ชั่วโมง จากเกือบ 3 ชั่วโมง เมื่อ 70 ปีก่อน
เนื่องด้วยพระราชพิธีครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจเข้าด้ายเข้าเข็ม คนอังกฤษกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาค่าครองชีพสูงที่สุด ในรอบ 30 ปี ทั้งจากราคาสินค้า ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ทำให้จำนวนคนพึ่งพา อาหารสนับสนุนจากธนาคารอาหาร (Food Banks) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สำนักข่าวบีบีซีแห่งประเทศอังกฤษ รายงานว่า แม้จะมีข้อเป็นห่วงเกี่ยวกับการจัดงานพระราชพิธี ซึ่งประเมินว่าน่าจะใช้เงินระหว่าง 60-123 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในภาวะที่ประชาชนกำลังเผชิญกับความยากลำบาก แต่สำหรับภาคธุรกิจแล้ว การจัดงานใหญ่ที่เรียกความสนใจได้จากคนทั่วโลกเช่นนี้คือโอกาสทอง เป็นการลงทุนเพื่อทำเงิน
สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งลอนดอน (LCCI) เชื่อว่าพระราชพิธีจะช่วยกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจ ฝูงชนที่แห่แหนเข้ามาร่วมชมพระราชพิธีส่งผลดีต่อธุรกิจบริการและท่องเที่ยวแน่นอน เป็นเครื่องจักรกระตุ้นตัวสำคัญ หลังจากที่ซบเซามานานจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด
เจมส์ วัตคิน ประธานฝ่ายนโยบายของ LCCI เปิดเผยกับบีบีซีว่า อีเวนต์ระดับโลกเช่นนี้ช่วยสร้างบรรยากาศที่น่ารื่นรมย์ ดึงดูดคนให้มาเยี่ยมเยือน ส่งผลดีต่อธุรกิจในชุมชน นำไปสู่การจ้างงานที่ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งเมื่อรัฐบาลกำหนดให้ วันที่ 8 พ.ค. 2566 เป็น วันหยุดเพิ่ม ยิ่งทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ตั้งแต่ผับ บาร์ ร้านอาหาร โรงแรมคึกคักมากขึ้น เชื่อว่าจะมีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 400 ล้านเหรียญฯ
นับจากวันที่มีการประกาศวันจัดงานพระราชพิธีอย่างเป็นทางการ เงินสะพัดจากการท่องเที่ยวและยอดค้าปลีกที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอย่างน่าชื่นใจ โดยเฉพาะในลอนดอน ซึ่ง คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP รวมของอังกฤษ แม้ในอีกด้าน หนึ่งจะมีข้อกังวลว่าวันหยุดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวันหยุดที่เป็นวันจันทร์ อาจทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักได้ โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิต
เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับบีบีซี ฝั่งสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นแห่งสหรัฐอเมริกา รายงานความคึกคักในผับ บาร์กรุงลอนดอนท่ามกลางพระราชพิธีเฉลิมฉลอง แต่การกำหนดวันหยุดเพิ่ม อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่เต็มที่อย่างที่ควรเป็น
ซีเอ็นเอ็นระบุ พระราชพิธีที่ช่วยกระตุ้นบรรยากาศแห่งการจับจ่ายใช้สอย จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม จากที่ถูกไอเอ็มเอฟประเมินว่า GDP ของอังกฤษในปีนี้จะเติบโตลดลง 0.3% ย่ำแย่ที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด
เจมส์ ฮาร์ดิแมน นักวิเคราะห์อาวุโสจากสมาคมค้าปลีกแห่งอังกฤษ ให้สัมภาษณ์ว่า ยอดค้าปลีกมักเพิ่มขึ้นเมื่อมีอีเวนต์ใหญ่ระดับประเทศ พระราชพิธีซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ จะช่วยกระตุ้นยอดค้าปลีกได้อย่างไม่ต้องสงสัย
ช่วงเดือน มิ.ย. 2565 ในโอกาสเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบรอบ 70 ปี (Platinum Jubilee) ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ยอดค้าปลีกในอังกฤษสัปดาห์นั้นเพิ่มขึ้นเป็น 108 ล้านเหรียญฯ สูงกว่าสัปดาห์ปกติมาก เนื่องมาจากการซื้อสินค้าที่ระลึก ตั้งแต่กล่องบิสกิต หมี กระเป๋าหูหิ้ว เทียนหอม ไปจนถึงถ้วยกาแฟ
ในปีนี้ สินค้าที่ระลึกสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีตั้งแต่แหวนเพชรที่ระลึกราคากว่า 500,000 เหรียญฯ ตุ๊กตาหมี ช็อกโกแลตแท่งขนาดเล็ก ไปจนถึงช็อกโกแลตรูปหล่อครึ่งองค์ขนาดเท่าตัวจริง ตลอดจนชาและคุกกี้ชอร์ตเบรด (Shortbread) ซึ่ง Marks & Spencer ค้าปลีกรายใหญ่ประจำชาติ คาดว่าจะทำยอดขายได้อย่างละ 1 ล้านกล่อง เช่นเดียวกับห้างค้าปลีก สัญชาติอังกฤษ ทั้ง Tesco และ Waitrose ซึ่งวางจำหน่ายอาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากพระราชพิธี ทั้งเค้ก แซนด์วิช ไส้กรอก
ในภาวะที่ธุรกิจค้าปลีก บริการ โรงแรมในอังกฤษส่วนใหญ่ ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่คาดว่า 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการจะอยู่ได้ไม่พ้น ปีหน้า การจัดพระราชพิธีในครั้งนี้คือโอกาสในการต่อชีวิต เพราะยอดจองห้องของโรงแรมในลอนดอนช่วงสัปดาห์พระราชพิธีสูงถึง 96%
ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินว่า เงินสะพัดจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในกรุงลอนดอนช่วง 3 วันงาน (6-8 พ.ค.2566) น่าจะมีมูลค่าประมาณ 420 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ VisitEngland หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวประมาณมูลค่าเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวของคนอังกฤษเองที่ 1,500 ล้านเหรียญฯ
อย่างไรก็ตาม ซีเอ็นเอ็นรายงานข้อกังวลเช่นเดียวกับบีบีซี กรณีวันหยุดยาวพิเศษติดกันเสาร์–อาทิตย์–จันทร์ จะเป็นตัวถ่วงการขยายตัวทาง เศรษฐกิจ PWC เคยประเมินไว้ว่าวันจันทร์ที่ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดเพิ่มแต่ละครั้ง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอังกฤษประมาณ 1,100 ล้านเหรียญฯ เพราะแม้จะช่วยกระตุ้นการออกเที่ยว การจับจ่าย แต่การหยุดงานเพิ่มในทุกธุรกิจและการหยุดการผลิต ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน.
ศุภิกา ยิ้มละมัย