นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ ขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จำนวนลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.2565-20 ม.ค.2566 โดยจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตไปอีก 20,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ภายใต้สถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังคงผันผวนทั่วโลก
ทั้งนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับลดลงแล้ว แต่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทยยังไม่ลง และยังสูงกว่าราคาที่อ้างอิงอยู่ รวมทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังขาดสภาพคล่อง ถึงแม้ว่าขณะนี้จะเริ่มกู้ได้ก็ตาม ดังนั้น กระทรวงการคลังยังคงต้องอุดหนุนราคาน้ำมันด้วยมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลต่อไป ส่วนหลังจากนี้จะมีการขยายมาตรการต่อไปอีกหรือไม่นั้น ต้องรอดูสถานการณ์ราคาน้ำมันอีกครั้ง ซึ่งการขยายเวลาลดภาษีน้ำมัน เป็นการบรรเทาเรื่องราคาสินค้าและต้นทุนของประชาชน
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตเห็น ว่ายังมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้มาตรการทางภาษีไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยไม่ให้ราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นจนเกิดผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจภาพรวม ด้วยน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนของการผลิตและการขนส่งของทุกภาคอุตสาหกรรม กรมสรรพสามิตจึงได้ทำการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันดีเซลออกไปจนถึง วันที่ 20 ม.ค.2566 จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 20 พ.ย.65 นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลัง ประเมินว่า การต่ออายุลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รอบที่ 5 ออกไปอีก 2 เดือน ซึ่งทำให้กระทรวงการคลังสูญเสียการจัดเก็บรายได้อีก 20,000 ล้านบาทในครั้งนี้ เมื่อรวมกับ 4 ครั้งก่อนหน้านี้ สูญเสียรายได้ไป 108,000 ล้านบาท โดยครั้งแรกช่วงวันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.65 ลดภาษีลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 18,000 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.65 เป็นเวลา 3 เดือน ลดภาษีดีเซลลงลิตรละ 5 บาท รัฐสูญเสียรายได้ 30,000 ล้านบาท ครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย.65 เป็นเวลา 2 เดือน ลดภาษีลิตรละ 5 บาท สูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาท และครั้งที่ 4 ช่วงวันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย.65 เป็นเวลา 2 เดือน ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาท.