"สังคมต้องตื่น เศรษฐกิจต้องฟื้น การเมืองในฝัน" เปิดมุมมองฟื้นฟูประเทศภาคเอกชน

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"สังคมต้องตื่น เศรษฐกิจต้องฟื้น การเมืองในฝัน" เปิดมุมมองฟื้นฟูประเทศภาคเอกชน

Date Time: 14 ต.ค. 2565 07:00 น.

Summary

  • หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐการเดินหน้าพลิกฟื้นประเทศไทย จากภาวะวิกฤติเป็นภารกิจหลักที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว ชัดเจน และเฉียบขาด

Latest

อีซูซุไทยเริ่มผลิตปิกอัพไฟฟ้า

หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐการเดินหน้าพลิกฟื้นประเทศไทย จากภาวะวิกฤติเป็นภารกิจหลักที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว ชัดเจน และเฉียบขาด

แต่ท่ามกลางบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลง การเดินหน้าทุ่มเม็ดเงินลงไปเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ตอบโจทย์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยั่งยืนได้ เราจำเป็นต้องฟื้นฟูสังคม และการเมืองไทยให้เติบโตไปพร้อมๆกัน

และเพื่อแก้โจทย์ให้ถูกจุดวันที่ 19 ต.ค.นี้ ไทยรัฐของเราได้จัดงานสัมมนาประจำปี THAIRATH FORUM 2022 “ตื่น ฟื้น ฝัน” สังคมต้องตื่น เศรษฐกิจต้องฟื้น การเมืองในฝัน ที่โรงแรมนิกโก้ แบงคอก ในเวลา 14.00 น. โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำของประเทศ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย และสร้างสรรค์

แต่ก่อนที่เราจะได้รับฟังงานสัมมนา THAIRATH FORUM 2022 “ทีมเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมความคิดเห็นที่น่าสนใจของ “บิ๊ก” ทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ถึงมุมมองที่ว่า เราจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในฝันได้อย่างไร มาโหมโรงให้อ่านกัน...

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

เริ่มต้นจากแวดวงอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ซีอีโอ ปตท.ให้ความเห็นว่า “เศรษฐกิจไทยในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังโควิด–19 และเราจำเป็นต้องเร่งการเติบโตไปข้างหน้า ซึ่งผมมองว่า รัฐบาลควรจะต้องผลักดัน “อุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S–Curve” ของประเทศไทย”

ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวจะต้องร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน รวมทั้งมีมาตรการที่เอื้อต่อการลงทุน และช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และสร้างฐานการเติบโตของธุรกิจไทยในอนาคต รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งยานยนต์ไฟฟ้า ขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งจะลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานในระยะยาว

ภายใต้ภาวะที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ปตท.ได้ปรับวิสัยทัศน์ใหม่และเป็นอีกแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจในอนาคต ภายใต้แนวทาง “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” มุ่งดำเนินงานสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียนระบบกักเก็บพลังงาน และยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ หลังจากความต้องการใช้พลังงานเริ่มเปลี่ยนไป

โดยที่ผ่านมา ปตท.ร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ ทั้งเงินทุน และเทคโนโลยี สร้างฐานการผลิตในประเทศ รวมทั้งลงทุนด้านแพลต ฟอร์มพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อทดสอบเพิ่มการใช้และซื้อขายพลังงานหมุนเวียนในระบบ ที่สำคัญได้เร่งลงทุนในธุรกิจ ยา ธุรกิจอาหารและโภชนาการ (Nutrition) และธุรกิจเครื่องมือแพทย์ อาทิ การเข้าไปถือหุ้นกว่า 37% ในบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ผู้ผลิตยาชั้นนำจากไต้หวัน เพื่อศึกษาและต่อยอดนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสร้างการผลิตยาภายในประเทศ เสริมสร้างศักยภาพให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุน และศูนย์กลางความร่วมมือของอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในอนาคต

รวมทั้งสร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ผ้าไม่ถักทอ ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตชั้นกรองหน้ากากอนามัย ที่ทุกวันนี้ถือเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต แม้ภาครัฐจะผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 แล้วก็ตาม

“การร่วมทุนเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศไทยผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ และที่สำคัญช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดียิ่งขึ้น”

ขณะเดียวกันยังดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว เพราะการดูแลสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยจากนี้ไป ปตท.ตั้งใจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้เร็วกว่าเป้าหมายประเทศ ด้วยหลักการ 3P’s 1.Pursuit of Lower Emissions : ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านโครงการต่างๆ เช่น CCS การกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอ่าวไทย CCU นำก๊าซ CO2 กลับมาใช้ 2.Portfolio Transformation : การลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจใหม่ และ 3.Partnership with Nature and Society : เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซ CO2 จากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีธรรมชาติ โดย ปตท.วางแผนปลูกป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ จาก 1.1 ล้านไร่เดิม

“ในช่วงวิกฤติโควิด-19 กลุ่ม ปตท.ยังเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาสาธารณสุขผ่านโครงการลมหายใจเดียวกัน ที่ได้สร้างโรงพยาบาลสนามครบวงจร และบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ”

ขณะที่ยังมีโครงการ “ลมหายใจเพื่อน้อง” PTT Virtual Run เดิน-วิ่งเพื่อระดมทุนการศึกษาช่วยเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 60,000 คน ได้กลับเข้าเรียน และโครงการ Restart Thailand เปิดรับกลุ่มแรงงาน นักศึกษา ปวช. ปริญญาตรีที่จบใหม่ทั่วประเทศกว่า 25,000 อัตรา เข้าทำงานกับ ปตท.

“ผมได้กำชับให้กลุ่ม ปตท.ดำเนินโครงการในกิจกรรมทาง เศรษฐกิจให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ ทุนทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงศักยภาพพื้นที่ โดยเฉพาะการอาศัยจุดแข็งของประเทศในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อนำไปต่อยอดอุตสาหกรรมการเกษตร นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการผลิต โดยใช้ตลาดนำ” อรรถพลกล่าว

ส่วนในอนาคต สิ่งที่สังคมไทยควรตระหนักรู้และตื่นตัวให้มากยิ่งขึ้น ผมมองว่า คือ จะต้องเรียนรู้และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ทั้งในชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน อาทิ เรียนหรืออบรมผ่านระบบออนไลน์ การทำงานทางไกลออนไลน์และระบบเสมือนจริง และต้องให้ความสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นและบริหารความเสี่ยง

โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจควรเตรียมความพร้อมปรับตัวรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอด ต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง พร้อมปรับให้การดำเนินงานรองรับสถานการณ์ และปัจจัยที่อาจเข้ามากระทบ รวมทั้งนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ หรือออกแบบธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ขณะเดียวกัน ต้องดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

“เราต้องก้าวไปข้างหน้า จับมือช่วยเหลือกันและกัน สร้างความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน”

ศุภชัย เจียรวนนท์
ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี)

มาที่อีกมุมมองของภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ภายใต้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และสังคมไทยที่ต้องตื่นรู้ “ศุภชัย” อยากเห็นดุลยภาพของการเมืองไทย “การเมืองในฝันของผม คือ อยากเห็นดุลยภาพ check and balance ระหว่างนักการเมืองและรัฐราชการ ตลอดจนประชาชน เพราะทุกส่วนมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้คุ้มครองกฎระเบียบและอำนาจรัฐ”

“ผมยังอยากเห็นระบบการศึกษา มีความเข้มแข็ง สร้างความเข้าใจในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความเท่าเทียม ความโปร่งใสของระบบสังคม ปลูกฝังให้มีความกตัญญู มีความเข้าใจต่อชาติและความมั่นคงของชาติ”

ส่วนการจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และเติบโตไปข้างหน้า “ศุภชัย” มองว่า เราต้องทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคในด้านการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยี สตาร์ตอัพ (Start ups) และการสร้างนวัตกรรม

“และการจะเดินหน้าไปสู่สิ่งนี้ได้ ต้องสร้างและดึงดูดทรัพยากรมนุษย์ ไทยสามารถเป็นประตูสู่ตลาดเอเชียที่มีประชากรเกือบ 4,000 ล้านคน หรือเกือบครึ่งโลกได้ ผ่านการสร้างระบบนิเวศของการลงทุนที่ดึงดูดและปกป้องการลงทุนที่สร้างเศรษฐกิจ สร้างงานให้กับประเทศ”

นอกจากนั้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล คมนาคม ขนส่ง และชลประทาน รวมทั้งโครงการพื้นฐานเศรษฐกิจใหม่ เช่น การสร้างเมืองอัจฉริยะ หรือ Economic Zone เช่น EEC ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ กรณีนี้รวมถึงการเชื่อมโยงรถไฟไปถึงจีน ลาว เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา และโครงการ Landbridge เชื่อมระหว่างมหาสมุทรเป็นเส้นทางขนส่งในระดับโลก

ขณะที่การตื่นรู้ของสังคม ไทยจากวันนี้ ผมอยากเห็นสังคมที่คิดบวก สร้างสรรค์ สามัคคี มีความหวังดี พึ่งพาอาศัยกัน นี่คือสังคมในอุดมคติ

ขณะเดียวกันอีกสิ่งที่สำคัญในขณะนี้ คือการช่วยกันลดผลกระทบจากการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เราทุกคนต้องช่วยกันปรับการใช้ชีวิต ลดการดำเนินกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างก๊าซเรือนกระจก ผลักให้เศรษฐกิจเป็น net zero เพื่อรักษาสมดุลของความหลากหลายทางชีวภาพ

สังคมไทยยังต้องลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ทั้งอายุ เพศสภาพ ความบกพร่องของร่างกาย เชื้อชาติ ศาสนา และที่สำคัญยิ่งคือทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม

เด็กต้องมีคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับสมัยก่อนที่กำหนดว่าเด็กทุกคนต้องเรียนหนังสือ เพราะปัจจุบันองค์ความรู้ได้ปรับตัวไปอยู่บนโลกออนไลน์ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตคือการสร้างโอกาสและความเท่าเทียม การขับเคลื่อนนี้จะนำสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืน ที่มีคุณธรรม เข้มแข็งและลดความเหลื่อมล้ำ

“ผมยังอยากเห็นการปรับระบบการศึกษาใหม่ เน้นการนำความรู้ไปปรับใช้ในการแก้ปัญหา แนวทางหนึ่งคือการสร้างคลัสเตอร์นวัตกรรม (Innovation cluster) เชื่อมโยง รัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน ไปจนถึงสตาร์ตอัพ เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นอัจฉริยะ (Smart Nation) รวมทั้งการเป็นศูนย์กลาง หรือ Hub และประตู (Gateway) สู่ภูมิภาคและโลก”

ขณะเดียวกัน การผลักดันด้าน Soft power ยังถือเป็นยุทธศาสตร์ทางสังคมที่สำคัญของประเทศในโลกยุคใหม่ เป็นกลไกสร้างความมีอิทธิพลทางความคิด ที่มีผลต่อการสร้างชาติ สร้างคน ทัศนคติ คุณค่า วัฒนธรรมที่ดีงาม ตลอดจนภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือต่อต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยว ช่วยสร้างแบรนด์สินค้าและบริการไทยสู่ระดับโลก

ท้ายที่สุด ผมยังอยากเห็นการปรับโครงสร้างภาครัฐ ใน 2 เรื่อง 1.การเพิ่มผลตอบแทน โดยเฉพาะในข้าราชการระดับสูง ให้เท่าเทียมหรือสูงกว่าเอกชน จะได้ดึงคนเก่งทั่วประเทศเข้าสู่ระบบราชการ เพราะมีความมั่นคงในชีวิตเพียงพอ 2.ควรเปิดเผยตัวชี้วัดผลการทำงานของภาครัฐ ในมิติของการบริการประชาชน เอกชน และศักยภาพในการ แข่งขัน ตลอดจนประสิทธิภาพ หรือ productivity ของกำลังคนและต่อต้นทุนในทุกๆหน่วยงาน ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใส นำไปสู่การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเพื่อความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ

ยุทธศักดิ์ สุภสร
ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

เรามาอ่านความคิดเห็นดีๆต่อกันที่ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในขณะนี้เป็นความหวังของการเร่งฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติโควิด เร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจ หลังจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยต่อเนื่อง และคาดว่าในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทะลุ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นเป้าหมาย

“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมจะสนับสนุนการพลิกโฉมการท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่มุ่งสู่การเน้นคุณค่าและความยั่งยืน (High Value and Sustainable Tourism) ลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวจำนวนมาก มาเป็นการสร้าง รายได้จากนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง (Drive Demand) ไม่เปิดประเทศแล้วกลับไปสู่รูปแบบเดิมๆ” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ขณะเดียวกัน จะบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการปรับปรุงด้านอุปทาน (Shape Supply) อย่างขนานใหญ่ให้พร้อมรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ สามารถปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม และสอดรับกับพลวัตโลกได้

แต่ทั้งนี้ การฟื้นประเทศจำเป็นจะต้องเน้นการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจในทุกระดับ ให้เกิดสมดุลใน 4 มิติ คือมิติความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Economic Wealth) มิติสังคมอยู่ดีมีสุข (Social Wellbeing) มิติการรักษาสิ่งแวดล้อม (Environmental Wellness) และมิติการเสริมสร้างภูมิปัญญามนุษย์ (Human Wisdom)

ขณะเดียวกัน สังคมไทยต้องตื่นตัว และรับรู้ The Only Certainty is Uncertainty ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน และเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนอย่างรู้เท่าทันและเป็นระบบ ไม่ทำตัวเป็นกบในน้ำเดือดที่มิได้ตระหนักถึงอันตราย กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อน้ำเดือด ซึ่งช้าเกินไป สังคมไทยต้องตื่นตัวพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และปรับตัวให้ทันกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะสายเกินไป ต้องดีกว่าเก่า

ส่วนการเมืองในฝันควรจะเป็นโดยประชาชนและเพื่อประชาชน ภายใต้กรอบกติกาที่เอื้อประโยชน์ต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนและความมั่นคงยั่งยืนของประเทศ

******

ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นที่น่าสนใจของภาคเอกชนที่จะร่วมฟื้นฟูประเทศ “สังคมต้องตื่น เศรษฐกิจต้องฟื้น การเมืองในฝัน” ซึ่ง “ทีมเศรษฐกิจ” รวบรวมมาให้อ่านกันใน EP.1 และยังจะติดตามความคิดเห็นดีๆได้อีกใน EP.2 วันจันทร์ที่ 17ต.ค.นี้ ก่อนที่จะไปฟัง “ตัวจริง เสียงจริง” ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในงานสัมมนา THAIRATH FORUM 2022 ร่วมกันปลุกประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันวันที่ 19 ต.ค.นี้.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ