"อีอีซี" โวทีเด็ด ไม่กู้เงินต่างประเทศ เซ็น "4 โครงการยักษ์" ร่วมลงทุน 6.5 แสนล้าน

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"อีอีซี" โวทีเด็ด ไม่กู้เงินต่างประเทศ เซ็น "4 โครงการยักษ์" ร่วมลงทุน 6.5 แสนล้าน

Date Time: 1 ธ.ค. 2564 05:04 น.

Summary

  • เลขาฯ สกพอ.เผยความก้าวหน้า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนแล้ว 4 โครงการ PPP มูลค่ารวม 6.5 แสนล้าน ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

Latest

เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง กนง.ลดดอกเบี้ย ชี้หากสงครามการค้ารุนแรง จีดีพีไทยปีนี้ได้แค่ 1.3%

เลขาฯ สกพอ.เผยความก้าวหน้า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนแล้ว 4 โครงการ PPP มูลค่ารวม 6.5 แสนล้าน ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ชี้ทำให้รัฐลงทุนทำโครงการสำคัญโดยไม่ต้องกู้เงินต่างประเทศ ลงทุน 2.1 แสนล้าน ย้ำเอกชนไทยร่วมเสี่ยงคือการสร้างความมั่นใจในอนาคตของประเทศ

สังคมยังเฝ้าติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ที่เป็นโครงการรูปแบบ การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวว่า ขณะนี้ได้เซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนแล้ว 4 โครงการ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการ พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และ โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

นายคณิศกล่าวว่า ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ที่มีมูลค่าลงทุนรวมสูงถึง 654,921 ล้านบาท เป็นการ ลงทุนภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท หรือร้อยละ 64 และเป็นการลงทุนของภาครัฐ 238,841 ล้านบาท หรือร้อยละ 36 ทั้งนี้ ภาคเอกชนจะให้ผลตอบแทนภาครัฐ 440,193 ล้านบาท และรัฐได้ผลตอบแทนสุทธิ 210,352 ล้านบาท ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ อีอีซี ที่ได้ขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและ คนไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต สะท้อนให้เห็นเป็น หลักฐานเชิงประจักษ์ถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการลงทุนของประเทศ ภายใต้หลักคิด 4 ประการ ประการแรก ประเทศไทยก้าวไปสู่การพึ่งพาตนเอง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซีครั้งนี้ ไม่พึ่งพิงเงินกู้จาก ต่างประเทศ แตกต่างจากในอดีตที่การลงทุนต้องกู้เงินต่างประเทศมาทำโครงการ ส่งผลภาระการคลังระยะยาว ต้องทยอยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้

ประการที่ 2 ส่งเสริมให้เอกชนไทย ธุรกิจไทย มีความแข็งแรง มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาประเทศ ภายใต้ความร่วมมือภาครัฐและเอกชนแบบลงตัว สะท้อนถึงความสามารถของภาคเอกชนไทยว่ามีความ แข็งแกร่ง พร้อมเป็นแกนหลักนำพันธมิตรบริษัทต่างชาติ มาร่วมทำงานให้คนไทย แนวทางใหม่นี้คือ การใช้บริษัทไทย ใช้คนไทย และใช้เงินไทยลงทุน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้างงานและเงินหมุนเวียนในประเทศแบบทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ หรือ Multiplier effect เพิ่มขึ้นหลายเท่า มูลค่าการลงทุนกว่า 6.5 แสนล้านบาท นำไปสู่การสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับบริษัทไทย ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ระดับชุมชน และสร้างรายได้จากภาษี โดยเฉพาะภาษีทางอ้อม

ประการที่ 3 รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณและได้ผล ตอบแทนสุทธิสูงเพิ่มขึ้นจากสินทรัพย์ที่นำมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบริหารร่วมกับเอกชนถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดมูลค่าลงทุนกว่า 650,000 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณ และสร้างรายได้ สุทธิให้ภาครัฐเป็นมูลค่ากว่า 210,000 ล้านบาท ประการที่ 4 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซี ทั้ง 4 โครงการในรูปแบบ PPP แสดงให้เห็นว่า รัฐ-เอกชน สามารถร่วมมือสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้ และการที่เอกชนมั่นใจนำเงินมาลงทุนร่วมเสี่ยงกับรัฐบาล คือการการันตีความร่วมมือกันอย่างมั่นใจในอนาคต

นายคณิศกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว สกพอ.มองว่า จะทำอย่างไรให้ทรัพย์สินของภาครัฐที่เดิมไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อประเทศไทย วันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความสำเร็จภายใต้แนวทางการพึ่งพาตนเองถือเป็นการพลิกโฉมแนวทางการลงทุนแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะเดิมนั้นการลงทุนในโครงการสำคัญ รัฐบาลต้อง ไปกู้เงินต่างประเทศ และให้บริษัทต่างชาติมาก่อสร้าง จากนั้นบริษัทต่างชาติก็เอาเงินของประเทศไทยกลับไป สิ่งที่ประเทศไทยได้คือหนี้ รัฐบาลต้องรับหนี้และความเสี่ยงในอนาคต แต่ในวันนี้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม เพราะเรามองแล้วเห็นว่า เอกชนไทย ธุรกิจไทยมีความแข็งแรง สามารถร่วมกระบวนการพัฒนาประเทศได้ นำมาสู่ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ในรูปแบบที่ลงตัว


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ