ศบศ.อนุมัติโครงการคนละครึ่งเฟสสอง เพิ่มคนใหม่ 5 ล้านคน เริ่มใช้เดือน ม.ค.– มี.ค.2564 คนละ 3,500 บาท คนเดิม 10 ล้านคน ไม่ต้องรีบใช้ 3,000 บาทให้หมด รวมทั้งยังได้เพิ่มอีก 500 บาท รวมใช้เงินเพิ่ม 22,500 ล้านบาท และเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการคนละ 500 บาท 3 เดือน รวม 21,000 ล้านบาท ชงขอใช้เงินกู้เพิ่มอีก 43,500 ล้านบาท อนุมัติขยายเราเที่ยวด้วยกัน สิ้นสุด เม.ย.2564 เพิ่มสิทธิพักเป็น 15 คืน
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้เห็นชอบมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่สอง และมาตรการเพิ่มกำลังซื้อ ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมใช้เงินเพิ่มอีก 43,500 ล้านบาท โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โครงการคนละครึ่ง ระยะที่สองจะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิเพิ่มเติมอีก 5 ล้านคน ได้รับวงเงินคนละ 3,500 บาท ผู้ที่ถูกตัดสิทธิจากโครงการคนละครึ่ง ระยะที่หนึ่ง เนื่องจากไม่ได้ใช้จ่ายภายใต้ โครงการ ภายในวันที่กำหนดไว้ หลังจากที่ลงทะเบียนรับสิทธิไปแล้ว ยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมระยะที่สองได้ มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 มี.ค.2564 รูปแบบการใช้เหมือนกับระยะแรกที่ภาครัฐจะร่วมจ่าย 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคน ต่อวัน และจะเพิ่มวงเงินผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่หนึ่ง อีกคนละ 500 บาท จากเดิมได้รับอยู่คนละ 3,000 บาท และขยายเวลาการใช้สิทธิมาตรการระยะที่หนึ่งออกไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2564 ฉะนั้น วงเงินเดิมไม่ต้องใช้ให้หมดภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เงิน 22,500 ล้านบาท คาดเปิดรับลงทะเบียนได้ครึ่งหลังของเดือน ธ.ค.นี้
“ศบศ.ยังได้เห็นชอบมาตรการเพิ่มกำลังซื้อ ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับผู้ถือบัตร สวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน คนละ 500 บาทต่อคน ต่อเดือน รวม 3 เดือน มีระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.2564 เพิ่มเติมจากเดิมที่ให้เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา”
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ศบศ.ได้เห็นชอบปรับปรุงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ประกอบด้วย ขยายขอบเขตการใช้สิทธิจำนวน การจองห้องพักจากเดิมประชาชนจองที่พักได้ไม่เกิน 10 คืน (Room night) ต่อ 1 สิทธิ เพิ่มเป็น 15 คืนต่อ 1 สิทธิ และขยายช่วงเวลาการจองที่พัก จากเวลา 06.00-21.00 น. เป็นเวลา 06.00-24.00 น. รวมทั้ง เพิ่มจำนวนห้องพักในโครงการอีก 1 ล้านคืน จากเดิม 5 ล้านคืน เป็น 6 ล้านคืน โดยปัจจุบันเหลืออยู่ 900,000 คืน และได้ขยายเวลาการใช้สิทธิโครงการถึงวันที่ 30 เม.ย.2564 จากเดิมสิ้นสุด 31 ม.ค. 2564 โดยให้เพิ่มโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาต แต่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี, มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เข้าร่วมโครงการได้
ขณะที่ขยายการใช้อี-วอลเชอร์ที่รัฐให้วันละ 600-900 บาท สำหรับธุรกิจการขนส่งภาคท่องเที่ยว รถเช่า เรือเช่า ธุรกิจสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ และปรับปรุงเกณฑ์สนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน จากเดิมรัฐสนับสนุน 40% สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อ 1 สิทธิ เป็นสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อ 1 สิทธิ เฉพาะการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดที่ภาคท่องเที่ยวพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ เชียงราย และกำหนดหลักเกณฑ์การลา สำหรับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักร้อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา เมื่อใช้สิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ (เที่ยวไทยวัยเก๋า) สำหรับผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่ต้องเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยว ไม่น้อยกว่า 3 วัน 2 คืน และเดินทางได้เฉพาะวันธรรมดา (เข้าพักในวันอาทิตย์ถึงวันพฤหัสบดี) มีค่าใช้จ่ายต่อโปรแกรมไม่น้อยกว่า 12,500 บาทต่อคนต่อโปรแกรม ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายผ่านบริษัทนำเที่ยว ในลักษณะร่วมจ่ายคนละ 5,000 บาท
“บริษัทนำเที่ยวที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องจดทะเบียนดำเนินธุรกิจก่อนวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา และสามารถรับนักท่องเที่ยวผ่านโครงการได้ไม่เกิน 3,000 รายต่อบริษัท มีเวลาดำเนินการ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ ครม.อนุมัติ คาดว่ามีผู้เข้าร่วม 1 ล้านคน ใช้วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยไม่ของบเพิ่มเติม และได้เห็นชอบการปรับปรุงโครงการกำลังใจ โดยเปิดให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้”.