สรุป "ประกันสังคม" แก้ไขระเบียบผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่กำลังตกงาน ว่างงาน หากประสงค์จะอยู่ในระบบประกันสังคม หรือเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องรีบทำภายใน 6 เดือน และทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้
หลังจากราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศ เรื่องระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 (อ่านประกาศฉบับเต็มได้ ที่นี่) ทำให้หลายคนค่อนข้างสงสัยว่าประกาศดังกล่าวนั้น บังคับใช้อย่างไร และมีผลอย่างไรต่อลูกจ้างบ้าง
"ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ขอสรุปสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าว รวมไปถึงนิยามของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมดังนี้
นิยามผู้ประกันตน
- ผู้ประกันตน มาตรา 33 คือ ลูกจ้างผู้ทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการ หรือพนักงานเอกชน
- ผู้ประกันตน มาตรา 38 คือ พนักงาน หรือลูกจ้างที่ออกจากงานแล้ว และประกันสังคมยังคุ้มครอง อีก 6 เดือน
- ผู้ประกันตน มาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนแบบสมัครใจที่ยังอยากส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมหลังผันตัวออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือมีเหตุให้ต้องหลุดออกจากงานเดิม
- ผู้ประกันตน มาตรา 40 คือ เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ เป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามประกันสังคมมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39
สำหรับการแก้ไขระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 นั้น มีสาระสำคัญ ดังนี้
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ซึ่งตกงาน หรือลาออกจากงาน ถ้าประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไปให้ยื่นแบบคำขอเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ที่สำนักงานประกันสังคมภายใน 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดความเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 33
โดยใช้เอกสารดังนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นๆ ที่มีเลขประจำตัวประชาชน และรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้
หากไม่สามารถมายื่นเอกสารด้วยตัวเองได้ ก็สามารถยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ด้วยวิธีการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโทรสาร E-mail รวมถึงแอปพลิเคชันไลน์
ในกรณียื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ผ่านทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จะถือวันประทับตราไปรษณีย์ต้นทางเป็นสำคัญ หรือกรณียื่นแบบคำขอผ่านช่องทางออนไลน์ ควรเก็บหลักฐานการส่งเพื่อตรวจสอบ
ทั้งนี้ หากไม่สามารถยื่นแบบคำขอทั้งหมดได้ ก็สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นยื่นแทน โดยใช้หนังสือมอบอำนาจ และหลักฐานสำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่มีเลขประจำตัวและมีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้ ของผู้มอบอำนาจพร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง และแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โดยต้องมายื่นให้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ