รถไฟฟ้าบีทีเอส ไม่ลดขบวนรถ แม้ผู้โดยสารจะลดลง หลัง กทม.ประกาศปิดห้าง หันมาคุมเข้มเว้นระยะห่างทางสังคม เช่นเดียวกับ รฟม.เพิ่มคัดกรองป้องกันโควิด ส่วน บขส.ติดตามสถานการณ์ พบคนทำงานสถานบริการ กลับภูมิลำเนาจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวยืนยันว่า บีทีเอสจะไม่ปรับลดความถี่ขบวนรถ โดยจะให้บริการความถี่สูงสุดเช่นเดิม เพื่อให้ผู้โดยสารมีระยะห่างในการเดินทางมากขึ้น และจะขอความร่วมมือจากผู้โดยสารในการใช้ระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing บริเวณชานชาลาและในขบวนรถ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร
“แต่สิ่งสำคัญขณะนี้ คือการขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัย เมื่อใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจ และป้องกันการระบาดในระบบเดินรถทั้งในขบวนรถและในสถานี”
ส่วนจำนวนผู้โดยสารขณะนี้ คาดว่าจะมีจำนวนลดลงอีก ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขผู้โดยสาร เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนของนักเรียนและนักศึกษา รวมถึงมีพนักงานบริษัทเอกชนที่ใช้มาตรการทำงานที่บ้าน เชื่อว่าจะมีผู้โดยสารลดลงอีกจากการประกาศให้ปิดห้างสรรพสินค้า ซึ่งทำให้พนักงานบางส่วนหายไป
เช่นเดียวกับนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาส ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า รฟม. ยังให้บริการความถี่ขบวนรถสูงสุด และจะเพิ่มเรื่องการคัดกรองด้วยการวัดอุณหภูมิและการทำความสะอาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการประกาศมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ผู้โดยสารมาใช้บริการลดลง เนื่องจากหลายบริษัทให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน โดยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงเวลาปกติ มีผู้โดยสารประมาณ 380,000 คน แต่ปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 300,000 คนเท่านั้น ส่วนการทำมาตรการระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing จะเป็นการขอความร่วมมือผู้โดยสาร เนื่องจากบางช่วงเวลามีผู้โดยสารหนาแน่น
นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผย ว่า ขณะนี้กำลังติดตามสถานการณ์การเดินทางผู้โดยสาร ซึ่งยังเป็นปกติ ไม่ได้มีการเดินทางไปต่างจังหวัดเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีผู้โดยสารซึ่งทำงานในสถานบริการได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ในวันที่ 22 มี.ค. มีแผนที่จะพิจารณาร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าในสถานีขนส่ง ตามนโยบายของ กทม. เช่น ร้านขายเสื้อ หรือร้านขายอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค จะหารือกับผู้รับสัมปทานว่าจะให้ปิดร้านไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19.