คาบลูกคาบดอก : พ.ร.บ.เงินทดแทนที่ควรรู้

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คาบลูกคาบดอก : พ.ร.บ.เงินทดแทนที่ควรรู้

Date Time: 14 ม.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • ในภาวะที่ เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง การตกงาน ว่างงาน การเลิกจ้าง เป็นปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานที่มีผลกระทบโดยทั่วหน้ากัน

Latest

ร้านอาหารอ่วม! ปิดกิจการเพียบ


ในภาวะที่ เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง การตกงาน ว่างงาน การเลิกจ้าง เป็นปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานที่มีผลกระทบโดยทั่วหน้ากัน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่จะทำได้คือการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานไม่ให้ถูกเอาเปรียบและสามารถที่จะดำรงชีวิตต่อไปได้

กระทรวงแรงงาน โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ได้เสนอรัฐบาลให้ประกาศ พ.ร.บ.เงินทดแทน ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 ออกมาแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ ในการขยายความคุ้มครองแก่ลูกจ้างของส่วนราชการ ขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมไปถึงลูกจ้างซึ่งทำงานในองค์กรของนายจ้างที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ

รวมถึงการออกกฎหมายบังคับใช้เกี่ยวกับ ขอบเขตการคุ้มครองลูกจ้าง ซึ่งได้รับการจ้างงานในประเทศ ของสถานเอกอัครราชทูตและองค์การระหว่างประเทศด้วย

โดยมีการเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ภัยพิบัติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในความหมายหรือลักษณะของภัยพิบัติ ลดการจ่ายเงินเพิ่มเติมตามกฎหมายในท้องที่ประสบภัยพิบัติตามที่รัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศกำหนด

ทั้งนี้ ได้มีการเพิ่มอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย

โดยออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์มีการ เพิ่มอัตราค่าทดแทนกรณีต่างๆ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีที่ลูกจ้าง ทุพพลภาพ เป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี จากเดิมที่ไม่เกิน 15 ปี เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีที่ลูกจ้าง ถึงแก่ความตายหรือสูญหาย มีกำหนด 10 ปี จากเดิมกำหนดไว้ 8 ปี

นอกจากนี้ การกำหนดจ่ายค่าทดแทนในกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ ให้รับเงินทดแทนได้ตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ จากเดิมที่กำหนดไว้ จะสามารถรับเงินทดแทนได้ในกรณีที่ไม่สามารถทำงานได้ติดต่อกันเกินกว่า 3 วัน

เพิ่มค่าจัดการศพตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง จากเดิมที่จ่ายให้ 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ในส่วนของนายจ้างเองก็จะได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.เงินทดแทนที่แก้ไขเพิ่มเติม โดย การปรับลดเงินเพิ่ม ตามกฎหมายจากเดิมร้อยละ 3 ต่อเดือน ลดลงเหลือร้อยละ 2 ต่อเดือน

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเกณฑ์การคำนวณเงินเพิ่มกรณีที่นายจ้างค้างชำระเงินสมทบ ไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่ายจากเดิมที่ไม่ได้กำหนดเพดานเอาไว้

นอกจากภาพลักษณ์ของประเทศในการดูแลผู้ใช้แรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าวอย่างเท่าเทียมกันแล้วทำให้ลูกจ้างมีหลักประกันชีวิตที่ดีขึ้น นายจ้างเองจะมีผลกับประสิทธิภาพของ การทำงานและความมั่นคงธุรกิจในอนาคต.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ